วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทหารในสังคมไทยปัจจุบัน

โดย พลเอก เฉลิม คูหาวิชานันท์

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

16 เมษายน 2564

     วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั่วไปแล้วยังส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของทหารในการป้องกันประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะมีคำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบโดยเร่งด่วนใน 2 ประเด็น ได้แก่ 
    1.จะเตรียมกำลังทหารเพื่อพัฒนาให้เป็นกองทัพที่ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร 
    2. ควรจัดสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทหารกับพลเรือนอย่างไรให้เกิดดุลยภาพในการร่วมกันป้องกันประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดไป




     ปัจจุบันเรากำลังดำรงอยู่ในโลกที่ไม่หยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะอยู่รอดในสังคมอย่างมีคุณค่าสามารถใช้เวลาของชีวีตที่น้อยนัก สร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่เราจะต้องมีสติและมีปัญญาเพื่อที่จะได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดตามบทบาทตามหน้าที่ของตนทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ของสังคม ของประเทศ และในฐานะส่วนหนึ่งของมนุษยชาติในโลก

       การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นทุกคนต่างมีหน้าที่ คือมีกิจที่จะต้องทำ มีกิจที่ควรทำ ไม่มีผู้ใดเลยที่ไม่มีหน้าที่ ทุกคนจึงพึงรู้จักหน้าที่ของตน และทำหน้าที่ของตนให้เต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ “ความรู้สึกและความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้เป็นคุณวุฒิอันสำคัญของคนทั้งปวง ไม่ว่าผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงต่ำเพียงใด หรือว่าจะเป็นคนรับราชการฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน หรือประกอบการอย่างใด ๆ ถ้าคนทั้งหลายมีความรู้สึก และซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน ๆ แล้ว ก็อาจให้เกิดความพร้อมเพรียงเป็น กำลังช่วยกันประกอบกิจการทั้งปวงให้สำเร็จลุล่วงไป ได้ประโยชน์แก่ ตนเองและเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้ดังประสงค์” (พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

          ทหารก็เหมือนคนอื่น ๆ ในสังคมซึ่งมีหน้าที่ต้องกระทำ ทหารถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานับตั้งแต่มี การบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ จนกลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ที่ได้รับความศรัทธา ความเชื่อถือและความเลื่อมใสจากคนไทยทุกยุค ทุกสมัย ในฐานะที่เป็นความหวังและเป็นที่พึ่งของพวกเขาในยามที่เกิด ศึกสงครามหรือได้รับความเดือดร้อนทั้งจากภัยพิบัติและการถูกกดขี่ ข่มเหงรังแกด้วยความอยุติธรรม ซึ่งทหารทุกคนได้รับรู้และภูมิใจที่ได้ กระทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชนตลอดมา เพราะทหารทุกคนสำนึก อยู่เสมอว่าการที่เกิดมาเป็นทหารของชาตินั้นก็เพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญ ที่สุดนั่นคือการปกป้องอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้ลูกหลานตลอดไป

         การทำหน้าที่ของทหาร นอกจากจะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งทำให้สภาพสังคมไทยได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างอย่างชัดเจนมากขึ้น จากสังคม ที่มีโครงสร้างแนวดิ่ง แบบอำนาจนิยม เริ่มปรับให้มีความแตกต่างและ เหลื่อมล้ำน้อยลง เกิดชนชั้นกลางยุคหลังสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทใน สังคมจากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ครอบครัวที่มี วิถีชีวิตแบบเดียวกันกลายเป็นครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมีวิถีชีวิต ที่หลากลาย แนวโน้มสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่วัยทำงานจะสนใจเรื่องการแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกน้อยลงซึ่งน่าจะส่งผล กระทบต่อประชากรไทย ในอนาคต

         คนหนุ่มสาวและเยาวชนรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น ไม่ชอบการเป็นลูกน้องใคร นิยมการทำธุรกิจส่วนตัว ชอบความเรียบง่าย ไม่ชอบพิธีรีตอง มีความกล้าได้กล้าเสีย ชอบอยู่ในโลกของตัวเอง โดย เฉพาะในโลกเสมือนจริงผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งการเกิดโลกเสมือนจริงผ่านสังคมออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่า Social Media ได้มีบทบาทสูงขึ้นในสังคม และเป็นความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องให้ความสนใจเรียนรู้ และทำาความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของสังคมแบบสองโลกที่มีทั้งโลกจริง และโลกเสมือนจริงมากขึ้น เพื่อนำข้อดีมาใช้ประโยชน์และป้องกันแก้ไขข้อเสียที่จะเกิดขึ้น



        นอกจากนั้น นักวิชาการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง ประชากรรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่ม “เจเนอเรชั่น ซี-อัลฟ่า” ว่าเป็นกลุ่มเด็กไทย-เยาวชนไทย รุ่นใหม่ที่เกิด ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗- ๒๕๖๖ ในอนาคตจะมีความสำคัญกับสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น ผู้บริหารประเทศจึงควรทำความรู้จักและเข้าใจถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นนี้ คนกลุ่มนี้ ถือได้ว่า เป็นคนในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพราะเป็นคนรุ่นที่ได้เริ่มสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่และโลกออนไลน์นับตั้งแต่แรกเกิด การที่คนรุ่นนี้ถือกำเนิดขึ้นมา เผชิญและเติบโตท่ามกลางการพัฒนาก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ล่าสุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นนี้ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆและมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟนและมีกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์มากที่สุด ทั้งเพื่อการค้นหาข้อมูลความรู้และความบันเทิง จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความคุ้นกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่ารุ่นอื่นๆ ทำให้ความคิดเห็นและมุมมองในมิติการเรียนรู้และอาชีพการงานต่างจากคนรุ่นก่อน“คนในยุคดิจิทัล” มักจะใฝ่ฝันที่จะมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จากความชอบของตัวเองและที่สำคัญมักแสดงออกถึงความเป็นตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใคร
      ภายใต้บริบทโลกแบบ VUCA ที่มีความผันผวน มีความไม่แน่นอน มีความซับซ้อนและมีความคลุมเครือ ในสภาพแวดล้อมของระบบสังคมดิจิทัลหลังโควิด-19 ที่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “New Normal" เกิดขึ้นและประกอบด้วยประชากรที่เป็นคนต่างยุคต่างวัยมาอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เรียกว่า “คนในยุคดิจิทัล” ทำให้ผู้นำแบบดั้งเดิมไม่สามารถนำพาหรือจัดระบบต่างๆในสังคมได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องมีผู้นำรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ผู้นำยุคดิจิทัล” ให้มาทำงานร่วมกัน

                          

   ในบริบทด้านความมั่นคงนั้น การที่โลกเริ่มมีการจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการท้าทายกันระหว่างมหาอำนาจมีผลให้การทำสงครามเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับทหารที่จะต้องทำความเข้าใจและหาวิธีการกำหนดนโยบายและวางแผนทางทหารเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทใหม่ด้านความมั่นคงการทำหน้าที่ของทหารในสังคมไทยปัจจุบันทำได้ยากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ทหารจำเป็นต้องปรับปรุงและประยุกต์ใช้กรอบวิธีการคิดแบบดั้งเดิมให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมภายใต้บริบทใหม่ด้านความมั่นคง และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามกรอบความคิดแบบดั้งเดิมการประเมินและวิเคราะห์ภัยคุกคามทางทหารแบบดั้งเดิมเกิดจากแนวความคิดของกลุ่มสัจนิยมที่มองว่าในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ หรือเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ของความร่วมมือหรือพื้นที่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกนั้น รัฐจะเป็นตัวแสดงหลักเพียงผู้เดียวที่จะกำหนดผลประโยชน์ของประเทศหรือรัฐของตน และรัฐโดยคณะบุคคลที่เรียกว่ารัฐบาล จะเป็นผู้ดำเนินการให้ได้มา และรักษาผลประโยชน์ที่เรียกว่าผลประโยชน์แห่งชาติของตน รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายที่จะบรรลุถึงเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ที่ต้องการ ในรูปของนโยบายด้านกิจการต่างประเทศ นโยบายด้านกิจการภายในประเทศ และนโยบายการป้องกันประเทศ และเมื่อต้องเผชิญกับการต้านทานมีให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้รัฐนั้นจะกำหนดให้เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ และถือเป็นอุปสรรคที่จะต้องขจัดให้หมดไป ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้กำลังอำนาจทางทหารและศักยภาพทางเศรษฐกิจเข้าดำเนินการ




          ปัจจุบันการเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นการเมืองซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการเมืองแบบ ๒ กิ่งก้าน คือขณะที่รัฐยังดำรงอยู่และมีอำนาจอธิปไตยในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและป้องกันประเทศดูแลให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกรุกรานยึดครองดินแดนและประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ในเวลาเดียวกันได้เกิดตัวแสดงใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ ไม่มีอำนาจอธิปไตยเหมือนรัฐขึ้นในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในลักษณะบรรษัทข้ามชาติเหนือรัฐ ชนกลุ่มน้อยกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมข้ามชาติ พรรคการเมือง องค์กรระหว่างประเทศ และแม้แต่กลุ่มหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้รัฐ/ประเทศเอง ซึ่งไม่ได้ยึดถือกฎเกณฑ์ในลักษณะเดียวกับรัฐ แต่มีทรัพยากรและช่องทางที่เพียงพอในการริเริ่มกิจกรรมระดับโลกด้วยตัวของกลุ่มเอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญซึ่งสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินกิจการระหว่างประเทศในโลกด้วย

       ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐสามารถระดมทรัพยากรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในระดับโลกได้โดยง่าย และการที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการป้องกันดินแดนและกฎเกณฑ์ที่รัฐต้องยึดถือ การจะควบคุมกลุ่มดังกล่าวให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์และระเบียบวินัยโดยรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละกลุ่มมีอิสระที่จะกระทำให้ได้ตามเป้าหมายของกลุ่มตนการจัดระเบียบโลกใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 จะทำให้การดำเนินกิจการระหว่างประเทศมิได้ยึดอยู่กับผลประโยชน์ของชาติเพียงอย่างเดียว แต่มีผลประโยชน์ของกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดเป็นภัยคุกคามทางทหารแบบดั้งเดิมต่อประเทศได้แบบฉับพลัน ทำให้การวางแผนทางทหารเพื่อเตรียมการป้องกันประเทศมีความยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น เพราะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าความท้าทายหรือภัยคุกคามใดที่ต้องใช้กำลังทหารและจะใช้ในรูปแบบใด เนื่องจากการระบุภัยคุกคามและการวางแผนทางทหารจะเป็นที่สนใจเฝ้าติดตามของกลุ่มต่าง ๆในสังคม การนิยามภารกิจทางทหารที่จะต้องปฏิบัติจะกลายเป็นประเด็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

  การทำหน้าที่ของทหารในสังคมไทยปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมีอำนาจหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนเป็นตัวแสดงหลักในการบริหารกิจการของประเทศภายใต้บริบทของสังคมแบบสองโลก ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ล้วนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ทหารจำเป็นต้องมีกรอบวิธีคิดใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เข้ามาพิจารณาร่วมกันให้เห็นความเกี่ยวพันของเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานทางทหารให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองโลก

   ทหารในสังคมไทยปัจจุบันจะต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และประเมินผลกระทบที่เกิดจากบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปและบริบทใหม่ด้านความมั่นคงที่มีการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการกำหนดภัยคุกคามต่อประเทศ รวมทั้งเพื่อการกำหนดสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทหารกับพลเรือนในสังคม และที่สำคัญเพื่อจัดเตรียมกำลังทหารให้เหมาะสมที่จะใช้เพื่อปกป้องอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้ลูกหลานตลอดไป

…………………………………………………….

ไม่มีความคิดเห็น: