วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564

แนวทางของ SSDRI ในการส่งเสริมนักวิจัยของกองทัพ

กองทัพบกได้จัดตั้ง สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง : สวพม. (Security Strategy Development and Research Institute : SSDRI) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 โดยมุ่งหวังให้เป็นสถาบันคลังสมองด้านความมั่นคงของชาติ มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ

SSDRI สะพานเชื่อมระหว่างความรู้กับนโยบาย

การดำเนินการของสถาบันฯ ใช้งบประมาณมาจาก 2 ส่วน คือ 1) งบประมาณของแผ่นดิน 2) งบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจาก มูลนิธิสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (SSDRI Foundation) ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งขึ้น

สถาบัน SSDRI มีเป้าหมายที่จะสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ปัจจุบันสถาบันฯ ได้พบว่า กำลังพลของกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก มีจำนวนมากถึง 197 คน เป็น ชาย 124 คน หญิง 73 คน และสามารถแยกตามระดับชั้นยศ ได้แก่ 1) ชั้นนายพล จำนวน 8 คน 2) ชั้นนายพัน 173 คน 3) ชั้นนายร้อย 13 คน และ 4) ชั้นประทวน 3 คน  ทำงานอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพบก โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย 5 อันดับแรก ดังนี้
  • ลำดับที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จำนวน 47 คน (24%)
  • ลำดับที่ 2 กรมแพทย์ทหารบก จำนวน 41 คน (21%)
  • ลำดับที่ 3 กรมยุทธศึกษาทหารบก จำนวน 13 คน (7%)
  • ลำดับที่ 4 กองทัพภาคที่ 1 จำนวน 11 คน (5%)
  • ลำดับที่ 5 กองทัพภาคที่ 2 จำนวน 9 คน (4%)


หากดูในด้านการทำงานในหน่วยงานของกองทัพบกที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย  จะพบว่ามีกำลังพลที่จบปริญญาเอก ทำงานอยู่เพียง 15 คน (7%) คือ กรมยุทธศึกษาทหารบก 7 คน วิทยาลัยการทัพบก 6 คน และ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก จำนวน 2 คน ส่วนที่เหลือ 182 คน (93%) ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่การวิจัยโดยตรง


กรอบแนวทางการวิจัยของ SSDRI  
สถาบัน SSDRI จะเป็นผู้กำหนดประเด็นการวิจัยด้านความมั่นคงที่ต้องการ โดยกำหนดมาจาก แบบสำรวจความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป ผนวกกับ การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต   หลังจากนั้นจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการ "กำหนดหัวข้อการวิจัย"  

การกำหนดหัวข้อการวิจัยด้านความมั่นคง ได้มาจาก 2 วิธี คือ
  • วิธีที่ 1 สถาบัน SSDRI กำหนดห้วข้อการวิจัยเอง แล้วหานักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ (เน้นกำลังพลของกองทัพบกที่จบปริญญาเอก) เป็นผู้ดำเนินการวิจัย
  • วิธีที่ 2 สถาบัน SSDRI ประกาศรับข้อเสนอให้ทุนอุดหนุนการวิจัยในประเด็นการวิจัยด้านความมั่นคงที่ต้องการ โดยในขั้นต้นจะส่งประกาศไปยังหน่วยต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหม  กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักวิจัยของหน่วยงานนั้น ๆ เสนอหัวข้อการวิจัยเพื่อขอรับทุนอุดหนุนจากสถาบัน SSDRI เป็นเบื้องต้น
การอนุมัติหัวข้อการวิจัย
หลังจากได้หัวข้อการวิจัยด้านความมั่นคง ตามวิธีที่ 1 และ 2  มาแล้วสถาบัน  SSDRI จะพิจารณาหัวข้อการวิจัย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัยเป็นสำคัญ และจัดเรียงลำดับความเร่งด่วนเอาไว้ ส่วนจะอนุมัติให้ทำการวิจัยได้กี่เรื่องนั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะได้รับการสนับสนนุนจาก "มูลนิธิสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง" เป็นสำคัญ

กรอบแนวทางการวิจัยของสถาบัน SSDRI นี้ จะเป็นการส่งเสริมให้กำลังพลของกองทัพที่จบปริญญาเอกสามารถนำความรู้ที่มีมาช่วยพัฒนาศักยภาพของกองทัพได้ โดยมีความมุ่งหมายสำคัญ คือ
  1. เพื่อการดำรงอยู่ของความรู้ของกำลังพลเหล่านั้น
  2. เพื่อพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ และต่อยอดความรู้ให้สูงยิ่งขึ้น ด้วยการทำวิจัย 
  3. เพื่อนำความรู้มาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กองทัพ
  4. มีรายได้เสริมจากค่าตอบแทนการวิจัย หรือ การทำงานด้านวิชาการ

เพื่อให้การส่งเสริมนักวิจัยของกองทัพให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันสถาบัน SSDRI กำลังดำเนินการวิจัยเรื่อง "แนวทางการนำองค์ความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพกองทัพ" เพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ
  1. เพื่อศึกษาสภาพการทำงานของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
  2. เพื่อศึกษาสถานะการนำความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมาประยุกต์ใช้ในงานที่รับผิดชอบ
  3. เพื่อเสนอแนวทางการนำองค์ความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพกองทัพ
คณะวิจัย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยนี้
  1. กองทัพบกได้แนวทางการนำองค์ความรู้จากกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก มาใช้เพิ่มศักยภาพให้กองทัพบก
  2. หน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม, กองทัพเรือ , กองทัพอากาศ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดหรือทำงานวิจัย เพื่อหาแนวทางการใช้องค์ความรู้จากกำลังพลของตนเองที่มีลักษณะคล้ายกัน
  3. สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาตร์ด้านความมั่นคง ได้แนวทางในการมอบหมายงานวิจัยให้แก่กำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

***********************************

ไม่มีความคิดเห็น: