วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ยุทธภัณฑ์ที่ผ่านสมรภูมิการรบ

 

ธงจุฑาธุชธิปไตย

 





ประวัติความเป็นมา 
     ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ฮ่อธงเหลืองยกกองทัพไปตีเมืองในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก เจ้านครหลวงพระบาง
ส่งใบบอกถึงเมืองพิชัย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้เกณฑ์กำลังมณฑลพิษณุโลกเข้ากองทัพให้ พระยาพิชัย (มิ่ง ศรีพิชัย) กับ พระยาสุโขทัย (ครุฑ หงสนันทน์) คุมขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบางก่อนแล้วให้ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) ตามขึ้นไปเป็นแม่ทัพใหญ่ปราบฮ่อ

    เมื่อกองทัพสยามยกขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง พวกฮ่อทราบความต่างพากันถอยหนีจากแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกกลับไปยังค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) ยกทัพติดตามไปจนถึงทุ่งเชียงคำ แต่ตีค่ายไม่แตก กองทัพสยามล้อมอยู่ ๒ เดือน ประสบปัญหาผู้คนเกิดป่วยเจ็บด้วยขัดสนเสบียงอาหารส่งไปไม่ทัน พระยาราชวรานุกูล จึงต้องเลิกทัพกลับมาทางเมืองหนองคาย

    เมื่อได้ข่าวมาถึงกรุงเทพฯ ว่ากองทัพสยามตีค่ายที่ทุ่งเชียงคำไม่สำเร็จ และยังได้รับใบบอกเมืองหลวงพระบางว่ามีทัพฮ่อยกมาตีเมืองหัวพันห้าทั้งหกอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่ากองทัพพระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) คงกระทำการไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทหารในกรุงเทพฯ ๒ ทัพ นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระราชวัง เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายใต้ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองพวน และ นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารหน้า เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายเหนือ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงจุฑาธุชธิปไตยแก่ นายพันเอก
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) เพื่อเป็นสิ่งแทนพระองค์ในกองทัพที่ยกไปปราบฮ่อ

ความสำคัญ
    ธงจุฑาธุชธิปไตยเป็นธงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่กองทัพของ
นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เพื่อใช้นำทัพในการปราบฮ่อ ซึ่งก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นสิบสองพันนา โดยกองทัพไทยถือว่าธงนี้เป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพธงแรกของไทย

สถานที่จัดเก็บ
    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร




ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารบกรถยนต์



                             

ประวัติความเป็นมา

    ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมออกประกาศรับสมัคร และคัดเลือกชายฉกรรจ์จำนวนกว่าพันคนจัดเป็นกองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบก พร้อมทั้งหมวดพยาบาล ไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑

    กองทหารบกรถยนต์ในบังคับ นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์นั้น เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการฝึกหัดขับรถยนต์ การบำรุงรักษารถยนต์ รวมทั้งการฝึกวิชาทหารราบ และการใช้อาวุธปืน

    เมื่อกองทหารบกรถยนต์เสร็จการฝึกหัดแล้ว ได้เข้าสู่สมรภูมิ และแสดงความกล้าหาญให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายทหารฝรั่งเศส จนสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จหลายครั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบเหรียญกล้าหาญชื่อ “ครัวซ์ เดอ แกรร์” (Croix de Guerre) ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองทัพสยาม และเมื่อกองทหารบกรถยนต์เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์ พร้อมกับมีพระราชกระแส ความตอนหนึ่งในหนังสือประวัติกองทหารอาสา ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเลพระพุทธศักราช ๒๔๖๐ - ๖๑ - ๖๒  
    “การที่ธงของกองเจ้าได้รับตราต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นพยานอยู่ในตัวแล้วว่านานาประเทศ
รู้สึกว่าทหารไทยทำการกล้าหาญน่าชมเชย ครั้นจะให้ตราทั้งหมดทุกคนก็เป็นการมากมายไม่ไหวอยู่เอง
ส่วนตัวข้าเองข้าได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะต้องสแดงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เจ้าทั้งหลายแลเห็นชัดว่า ข้าปลื้มปานใดในการที่พวกเจ้าได้ไปหาชื่อให้แก่ชาติไทยในครั้งนี้ ครั้นว่าข้าจะแจกตราให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน ก็จะเป็นการมากมายนัก ข้าจึงได้คิดว่าจะให้ตราแก่ธงประจำกองของเจ้า ขอให้เจ้าถือว่าที่ข้าให้ตราแก่ธงนี้ เท่ากับให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน  เพราะธงเป็นเครื่องหมายสำหรับกอง เพราะฉะนั้นเมื่อธงได้รับตราไปแล้ว ขอเจ้าจงรู้สึกว่าทุก ๆ คนได้รับตรา และทุก ๆ คนต้องตั้งใจรักษาเกียรติยศให้สมแก่เป็นผู้ได้รับตรารามาธิบดีอันมีศักดิ์ ช่วยกันรักษาศักดิ์นี้ไว้ เพราะศักดิ์อันนี้ไม่ใช่ของเจ้าโดยเฉพาะตัว นับว่าเป็นศักดิ์ของกองทหาร และเป็นศักดิ์ของตัวข้าผู้เป็นประมุขแห่งเจ้าทั้งหลายด้วย”

ความสำคัญ

    เป็นธงซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารในสงครามโลกครั้งที่ ๑

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร




หมวกเหล็กของพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล)





ประวัติความเป็นมา

    ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยในเช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหารไทยนำโดย นายพลตรี หลวงเสนาณรงค์ (ศักดิ์ เสนาณรงค์) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ หรือ ค่ายวชิราวุธ ในปัจจุบัน และนายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ร่วมกับทหารในสังกัด ทำการรบต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นบริเวณบ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

    การรบครั้งนี้ นายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ถูกยิงเข้าที่ศีรษะจนหมวกเหล็ก
เป็นรูกระสุน แต่ตัวท่านกลับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บทความเรื่อง บุกปักษ์ใต้ ในหนังสืออนุสรณ์
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก อมร อมรเสนีย์ บรรยายเหตุการณ์นี้ไว้ ดังนี้

    “…กระสุนญี่ปุ่นแหวกว่ายอากาศ แข่งกับการกระหน่ำของสายฝน อย่างไม่ยอมแพ้กันข้างใดข้างหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ ‘ป๋ง’ ป๋งหนึ่งใกล้ชิดเหลือเกิน เราชะแง้ดู เห็นโลหิตไหลรินจากศีรษะของนายทหารคนหนึ่ง เขม่นดู จำไม่ถนัดนักมืดมัวเหลือทน ต่อเขาวิ่งผ่านมาใกล้จึงเห็นหลวงประหารฯ ถอดหมวกเหล็กจากศีรษะ ทะลุเข้าหมวกแล้วแฉลบเข้าข้างศีรษะแทนที่จะได้เห็นสีหน้าเขาซีดสลดอย่างคนถูกปืนทั้งหลาย เปล่า!  หลวงประหารฯ กลับหัวเราะชอบใจ สวมหมวกอย่างเก่าแล้วก็ทำหน้าที่สั่งยิงต่อไป…”

    เช้าวันนั้น ทหารไทยได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเสียสละ และไม่เกรงกลัวข้าศึก ปฏิบัติการรบใช้เวลา
นานกว่า ๓ ชั่วโมง ฝ่ายไทยจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ให้ยุติการรบ และเปิดทางให้กำลังทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านไปได้ การรบในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต ๓๙ นาย และบาดเจ็บกว่า ๑๐๐ นาย ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นสูญเสียทหารจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ความสำคัญ

    เป็นหมวกเหล็ก Adrian รุ่น Model 31 สีกากีแกมเขียว ซึ่ง นายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ใช้ในการรบต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร


เสื้อเกราะกันกระสุนของ พ.อ. ทวี พลอยเลื่อมแสง


                                


ประวัติความเป็นมา

    พันเอก ทวี พลอยเลื่อมแสง มอบให้พิพิธภัณฑ์ทหารม้า จำนวน ๑ ตัว เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ความสำคัญ

    ใช้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุนพร้อมเป็นเสื้อกันหนาว ใช้ในสงครามเวียดนาม ปี พ.ศ. ๒๕๑๔

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์ทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี




ปลย.M 16 หมายเลข ๙๓๖๘๗๐๖





ประวัติความเป็นมา

    เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตรี ธวัช สุกปลั่ง (ยศในขณะนั้น) ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นายทหารเสริมกำลังพิเศษถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

    ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้เข้าร่วมการทดสอบยิงปืนฉับพลันถวายการทอดพระเนตรแก่ทั้งสองพระองค์ ณ สนามยิงปืนตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ขณะทำการยิงอาวุธปืนของ ร้อยตรี ธวัชฯ ได้เกิดการติดขัดหลายครั้ง เนื่องจากอาวุธของหน่วยได้ผ่านการใช้งานมานานในสงครามเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรอาการติดขัด ปลย.M 16 กระบอกนี้ทรงถอดประกอบและทอดพระเนตรเห็นความผิดปกติของหน้าลูกเลื่อนที่มีเขม่ามากผิดปกติ ทรงพระราชทานคำสอนแล้วรับสั่งให้ ร้อยตรี ธวัชฯ ประกอบอาวุธทำการยิงต่อไป แต่ก็ยังคงมีอาการติดขัด

    พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งต่อสมุหราชองครักษ์
ให้นำอาวุธปืนที่พระตำหนักจิตรลดาฯ มามอบให้ ร้อยตรี ธวัชฯ ขณะนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งติดตามเสด็จฯ ไปด้วย ได้กราบบังคมทูลว่า กองทัพบกขอนำ ปลย.M 16 มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในตอนเย็นวันนั้น พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้มอบ ปลย. M 16 ให้แก่ ร้อยตรี ธวัชฯ ไว้เป็นอาวุธประจำกายในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

    เย็นวันนั้น ร้อยโท บุญสืบ คชรัตน์ นายทหารติดตามผู้บัญชาการทหารบก ได้นำ ปลย.M 16 หมายเลข ๙๓๖๘๗๐๖ มามอบแก่ ร้อยตรี ธวัชฯ แล้วรับอาวุธปืนกระบอกเก่า ซึ่งเป็นของหน่วยกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๓ กลับไป เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป

    พลเอก ธวัช สุกปลั่ง ได้เก็บรักษา และใช้งาน ปลย.M 16 กระบอกนี้มาตลอดการออกปฏิบัติราชการสนาม จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้นำไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีด้วย เมื่อท่านจะพ้นจากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงมอบ ปลย.M 16 กระบอกนี้ไว้กับพิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ ๒ เก็บรักษาไว้ต่อไป

ความสำคัญ

    เป็นยุทธภัณฑ์ที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ พลเอก ธวัช สุกปลั่ง และได้ใช้ในราชการสนามหลายครั้ง

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา


หมวกเหล็กของร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย

                             
                              
                                                  



ประวัติความเป็นมา

    กรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ ๓๑๘๒ ฐานฯ ละมาด และกำลังพลในฐานฯ ได้ถูกกองกำลังทหารสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าโจมตีฐานฯ และระดมยิงด้วยอาวุธยิงสนับสนุน อย่างหนัก ร้อยเอก สุรพลฯ ได้ยิงโต้ตอบเพื่อยึดรักษาฐานฯ ละมาด ไว้อย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากกำลังฝ่ายตรงข้ามเข้าโจมตีอย่างหนัก และมีกำลังมากกว่าหลายเท่าจนกระทั่งสถานการณ์คับขัน เห็นว่าไม่สามารถรักษาฐานไว้ได้ด้วยความกล้าหาญ ร้อยเอก สุรพลฯ และกำลังพลฐานฯ ละมาด จึงร้องขอการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ โดยใช้กระสุนแตกอากาศเหนือฐานฯ เพื่อต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับความสูญเสียอย่างหนัก แม้จะรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นอันตราย ถึงชีวิตของตนเอง ก็ตามจนในที่สุด ร้อยเอก สุรพลฯ ซึ่งกำลังอำนวยการยิงอยู่ ในขณะนั้นได้ถูกสะเก็ดปืนใหญ่ที่ศีรษะเสียชีวิตในสนามรบ

ความสำคัญ

    เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของหน่วย ซึ่ง ร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ ๓๑๘๒ ฐานฯ ละมาด ได้สวมใส่ ทำการรบจนกระทั่งเสียชีวิตในกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑

สถานที่จัดเก็บ

    ห้องประวัติศาสตร์กองพันทหารม้าที่ ๑๘ กรมทหารม้าที่ ๓ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์



เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘ (F - 5)

                                                                                
                 


ประวัติความเป็นมา

    เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙ นาวาอากาศตรี พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ ได้นำ บข.๑๘ (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘) ออกโจมตีทางอากาศในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงต่อสู้ทำให้เครื่องตกบริเวณเขาปู่บริเวณพิกัด QU406402 จังหวัดเพชรบูรณ์ ในยุทธการร่วมใจ ๑๐ และได้สูญหายไป

ความสำคัญ

    นาวาอากาศตรี พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ และ บข.๑๘ (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘) เป็นบุคคล และยุทโธปกรณ์ทางประวัติศาสตร์ในการสนับสนุนการรบในสมรภูมิเขาค้อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์อาวุธและการสู้รบ (ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ) ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์




รวบรวมโดย กองประวัติศาสตร์ ยก.ทบ.
อัพเดต  พ.ค.64

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทหารในสังคมไทยปัจจุบัน

โดย พลเอก เฉลิม คูหาวิชานันท์

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

16 เมษายน 2564

     วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั่วไปแล้วยังส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของทหารในการป้องกันประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะมีคำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบโดยเร่งด่วนใน 2 ประเด็น ได้แก่ 
    1.จะเตรียมกำลังทหารเพื่อพัฒนาให้เป็นกองทัพที่ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร 
    2. ควรจัดสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทหารกับพลเรือนอย่างไรให้เกิดดุลยภาพในการร่วมกันป้องกันประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดไป




     ปัจจุบันเรากำลังดำรงอยู่ในโลกที่ไม่หยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะอยู่รอดในสังคมอย่างมีคุณค่าสามารถใช้เวลาของชีวีตที่น้อยนัก สร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่เราจะต้องมีสติและมีปัญญาเพื่อที่จะได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดตามบทบาทตามหน้าที่ของตนทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ของสังคม ของประเทศ และในฐานะส่วนหนึ่งของมนุษยชาติในโลก

       การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นทุกคนต่างมีหน้าที่ คือมีกิจที่จะต้องทำ มีกิจที่ควรทำ ไม่มีผู้ใดเลยที่ไม่มีหน้าที่ ทุกคนจึงพึงรู้จักหน้าที่ของตน และทำหน้าที่ของตนให้เต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ “ความรู้สึกและความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้เป็นคุณวุฒิอันสำคัญของคนทั้งปวง ไม่ว่าผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงต่ำเพียงใด หรือว่าจะเป็นคนรับราชการฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน หรือประกอบการอย่างใด ๆ ถ้าคนทั้งหลายมีความรู้สึก และซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน ๆ แล้ว ก็อาจให้เกิดความพร้อมเพรียงเป็น กำลังช่วยกันประกอบกิจการทั้งปวงให้สำเร็จลุล่วงไป ได้ประโยชน์แก่ ตนเองและเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้ดังประสงค์” (พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

          ทหารก็เหมือนคนอื่น ๆ ในสังคมซึ่งมีหน้าที่ต้องกระทำ ทหารถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานับตั้งแต่มี การบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ จนกลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ที่ได้รับความศรัทธา ความเชื่อถือและความเลื่อมใสจากคนไทยทุกยุค ทุกสมัย ในฐานะที่เป็นความหวังและเป็นที่พึ่งของพวกเขาในยามที่เกิด ศึกสงครามหรือได้รับความเดือดร้อนทั้งจากภัยพิบัติและการถูกกดขี่ ข่มเหงรังแกด้วยความอยุติธรรม ซึ่งทหารทุกคนได้รับรู้และภูมิใจที่ได้ กระทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชนตลอดมา เพราะทหารทุกคนสำนึก อยู่เสมอว่าการที่เกิดมาเป็นทหารของชาตินั้นก็เพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญ ที่สุดนั่นคือการปกป้องอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้ลูกหลานตลอดไป

         การทำหน้าที่ของทหาร นอกจากจะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งทำให้สภาพสังคมไทยได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างอย่างชัดเจนมากขึ้น จากสังคม ที่มีโครงสร้างแนวดิ่ง แบบอำนาจนิยม เริ่มปรับให้มีความแตกต่างและ เหลื่อมล้ำน้อยลง เกิดชนชั้นกลางยุคหลังสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทใน สังคมจากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ครอบครัวที่มี วิถีชีวิตแบบเดียวกันกลายเป็นครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมีวิถีชีวิต ที่หลากลาย แนวโน้มสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่วัยทำงานจะสนใจเรื่องการแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกน้อยลงซึ่งน่าจะส่งผล กระทบต่อประชากรไทย ในอนาคต

         คนหนุ่มสาวและเยาวชนรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น ไม่ชอบการเป็นลูกน้องใคร นิยมการทำธุรกิจส่วนตัว ชอบความเรียบง่าย ไม่ชอบพิธีรีตอง มีความกล้าได้กล้าเสีย ชอบอยู่ในโลกของตัวเอง โดย เฉพาะในโลกเสมือนจริงผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งการเกิดโลกเสมือนจริงผ่านสังคมออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่า Social Media ได้มีบทบาทสูงขึ้นในสังคม และเป็นความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องให้ความสนใจเรียนรู้ และทำาความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของสังคมแบบสองโลกที่มีทั้งโลกจริง และโลกเสมือนจริงมากขึ้น เพื่อนำข้อดีมาใช้ประโยชน์และป้องกันแก้ไขข้อเสียที่จะเกิดขึ้น



        นอกจากนั้น นักวิชาการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง ประชากรรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่ม “เจเนอเรชั่น ซี-อัลฟ่า” ว่าเป็นกลุ่มเด็กไทย-เยาวชนไทย รุ่นใหม่ที่เกิด ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗- ๒๕๖๖ ในอนาคตจะมีความสำคัญกับสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น ผู้บริหารประเทศจึงควรทำความรู้จักและเข้าใจถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นนี้ คนกลุ่มนี้ ถือได้ว่า เป็นคนในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพราะเป็นคนรุ่นที่ได้เริ่มสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่และโลกออนไลน์นับตั้งแต่แรกเกิด การที่คนรุ่นนี้ถือกำเนิดขึ้นมา เผชิญและเติบโตท่ามกลางการพัฒนาก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ล่าสุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นนี้ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆและมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟนและมีกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์มากที่สุด ทั้งเพื่อการค้นหาข้อมูลความรู้และความบันเทิง จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความคุ้นกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่ารุ่นอื่นๆ ทำให้ความคิดเห็นและมุมมองในมิติการเรียนรู้และอาชีพการงานต่างจากคนรุ่นก่อน“คนในยุคดิจิทัล” มักจะใฝ่ฝันที่จะมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จากความชอบของตัวเองและที่สำคัญมักแสดงออกถึงความเป็นตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใคร
      ภายใต้บริบทโลกแบบ VUCA ที่มีความผันผวน มีความไม่แน่นอน มีความซับซ้อนและมีความคลุมเครือ ในสภาพแวดล้อมของระบบสังคมดิจิทัลหลังโควิด-19 ที่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “New Normal" เกิดขึ้นและประกอบด้วยประชากรที่เป็นคนต่างยุคต่างวัยมาอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เรียกว่า “คนในยุคดิจิทัล” ทำให้ผู้นำแบบดั้งเดิมไม่สามารถนำพาหรือจัดระบบต่างๆในสังคมได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องมีผู้นำรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ผู้นำยุคดิจิทัล” ให้มาทำงานร่วมกัน

                          

   ในบริบทด้านความมั่นคงนั้น การที่โลกเริ่มมีการจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการท้าทายกันระหว่างมหาอำนาจมีผลให้การทำสงครามเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับทหารที่จะต้องทำความเข้าใจและหาวิธีการกำหนดนโยบายและวางแผนทางทหารเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทใหม่ด้านความมั่นคงการทำหน้าที่ของทหารในสังคมไทยปัจจุบันทำได้ยากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ทหารจำเป็นต้องปรับปรุงและประยุกต์ใช้กรอบวิธีการคิดแบบดั้งเดิมให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมภายใต้บริบทใหม่ด้านความมั่นคง และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามกรอบความคิดแบบดั้งเดิมการประเมินและวิเคราะห์ภัยคุกคามทางทหารแบบดั้งเดิมเกิดจากแนวความคิดของกลุ่มสัจนิยมที่มองว่าในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ หรือเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ของความร่วมมือหรือพื้นที่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกนั้น รัฐจะเป็นตัวแสดงหลักเพียงผู้เดียวที่จะกำหนดผลประโยชน์ของประเทศหรือรัฐของตน และรัฐโดยคณะบุคคลที่เรียกว่ารัฐบาล จะเป็นผู้ดำเนินการให้ได้มา และรักษาผลประโยชน์ที่เรียกว่าผลประโยชน์แห่งชาติของตน รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายที่จะบรรลุถึงเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ที่ต้องการ ในรูปของนโยบายด้านกิจการต่างประเทศ นโยบายด้านกิจการภายในประเทศ และนโยบายการป้องกันประเทศ และเมื่อต้องเผชิญกับการต้านทานมีให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้รัฐนั้นจะกำหนดให้เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ และถือเป็นอุปสรรคที่จะต้องขจัดให้หมดไป ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้กำลังอำนาจทางทหารและศักยภาพทางเศรษฐกิจเข้าดำเนินการ




          ปัจจุบันการเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นการเมืองซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการเมืองแบบ ๒ กิ่งก้าน คือขณะที่รัฐยังดำรงอยู่และมีอำนาจอธิปไตยในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและป้องกันประเทศดูแลให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกรุกรานยึดครองดินแดนและประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ในเวลาเดียวกันได้เกิดตัวแสดงใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ ไม่มีอำนาจอธิปไตยเหมือนรัฐขึ้นในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในลักษณะบรรษัทข้ามชาติเหนือรัฐ ชนกลุ่มน้อยกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมข้ามชาติ พรรคการเมือง องค์กรระหว่างประเทศ และแม้แต่กลุ่มหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้รัฐ/ประเทศเอง ซึ่งไม่ได้ยึดถือกฎเกณฑ์ในลักษณะเดียวกับรัฐ แต่มีทรัพยากรและช่องทางที่เพียงพอในการริเริ่มกิจกรรมระดับโลกด้วยตัวของกลุ่มเอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญซึ่งสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินกิจการระหว่างประเทศในโลกด้วย

       ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐสามารถระดมทรัพยากรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในระดับโลกได้โดยง่าย และการที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการป้องกันดินแดนและกฎเกณฑ์ที่รัฐต้องยึดถือ การจะควบคุมกลุ่มดังกล่าวให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์และระเบียบวินัยโดยรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละกลุ่มมีอิสระที่จะกระทำให้ได้ตามเป้าหมายของกลุ่มตนการจัดระเบียบโลกใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 จะทำให้การดำเนินกิจการระหว่างประเทศมิได้ยึดอยู่กับผลประโยชน์ของชาติเพียงอย่างเดียว แต่มีผลประโยชน์ของกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดเป็นภัยคุกคามทางทหารแบบดั้งเดิมต่อประเทศได้แบบฉับพลัน ทำให้การวางแผนทางทหารเพื่อเตรียมการป้องกันประเทศมีความยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น เพราะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าความท้าทายหรือภัยคุกคามใดที่ต้องใช้กำลังทหารและจะใช้ในรูปแบบใด เนื่องจากการระบุภัยคุกคามและการวางแผนทางทหารจะเป็นที่สนใจเฝ้าติดตามของกลุ่มต่าง ๆในสังคม การนิยามภารกิจทางทหารที่จะต้องปฏิบัติจะกลายเป็นประเด็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

  การทำหน้าที่ของทหารในสังคมไทยปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมีอำนาจหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนเป็นตัวแสดงหลักในการบริหารกิจการของประเทศภายใต้บริบทของสังคมแบบสองโลก ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ล้วนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ทหารจำเป็นต้องมีกรอบวิธีคิดใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เข้ามาพิจารณาร่วมกันให้เห็นความเกี่ยวพันของเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานทางทหารให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองโลก

   ทหารในสังคมไทยปัจจุบันจะต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และประเมินผลกระทบที่เกิดจากบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปและบริบทใหม่ด้านความมั่นคงที่มีการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการกำหนดภัยคุกคามต่อประเทศ รวมทั้งเพื่อการกำหนดสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทหารกับพลเรือนในสังคม และที่สำคัญเพื่อจัดเตรียมกำลังทหารให้เหมาะสมที่จะใช้เพื่อปกป้องอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้ลูกหลานตลอดไป

…………………………………………………….

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โครงการวิจัย เรื่อง แนวทางการปฏิรูปการรับราชการทหาร (การเกณฑ์ทหาร) ของไทยในศตวรรษที่ 21

โครงการวิจัย 
เรื่อง 
แนวทางการปฏิรูปการรับราชการทหาร (การเกณฑ์ทหาร) 

ของไทยในศตวรรษที่ 21


เอกสารประกอบการรายงานความก้าวหน้า ครั้งที่ 1 (ฉบับที่ 2)

โดย  พันเอกหญิง ธนิตา วงษ์จินดา และคณะ   วิทยาลัยการทัพบก 

เมษายน 2564


การปฏิรูปการรับราชการทหารเพื่อความมั่นคง 
กรณีศึกษาระบบการคัดเลือกทหารกองประจำการในต่างประเทศ


ธนิตา วงษ์จินดา1, เดชาธร สุขแสง2, ลิขิตกุล พุ่มเกษม3, บุรัสกร โตรัตน์4 และยุทธพร อิสรชัย5

1อาจารย์หัวหน้ากองวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยการทัพบก

2ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก

3อำนวยการสำนักแผนงานและวิจัยสถาบัน มหาวิทยาลัยสยาม

4อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


กล่าวนำ

  การคัดเลือกทหารเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อการได้มาซึ่งกำลังพลเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพโดยวิธีการคัดเลือกทหารของแต่ละประเทศ จะขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้นๆ การเกณฑ์ทหาร (Military Conscription) ถือเป็นนโยบายระดมกำลังคน ที่มีมานานหลายศตวรรษ และยังคงใช้กันอยู่อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศจนถึงปัจจุบัน (Kwok, 2014, pp. 1) เนื่องจากทำให้กองทัพสามารถระดมคนจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็วเพื่อเข้ามารับราชการเป็นทหารกองประจำการ วิธีการเกณฑ์ทหารทำให้ได้มาซึ่งกำลังพลในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ ด้านการป้องกันประเทศและภารกิจจำเป็นอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบของการเกณฑ์ทหารอาจมีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทและปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ (ธนัย เกตวงกต, 2560, น. 1)

      ในขณะที่การเกณฑ์ทหารยังมีความจำเป็นสำหรับบางประเทศ แต่ก็มีประเทศจำนวนไม่น้อยที่ได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปเนื่องจากได้นำระบบทหารอาสาสมัคร (Volunteer Military System) หรือกองกาลังที่เป็นอาสาสมัครทั้งหมด (All-Volunteer Force) มาใช้แทน จุดเริ่มต้นของกระแสการยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก มาจากการปฏิรูปจากระบบการเกณฑ์ทหารไปสู่ระบบทหารอาสาสมัครของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1973 (Hall, 2011) ระบบการคัดเลือกทหารแบบใหม่นี้ได้สร้างความสนใจให้กับประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างมาก อีกทั้งความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารได้ถูกตั้งคำถามและเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นภายหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น เนื่องจากโอกาสในการเกิดสงครามหรือการสู้รบขนาดใหญ่ลดลงไปอย่างชัดเจน ทำให้มีการเกณฑ์ทหารลดลงทั้งจำนวนของทหารและระยะเวลาที่เข้ารับราชการจนถึงขั้นมีการยกเลิกไปในหลายประเทศ

          อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่แตกต่างไปจากเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนหน้าทำให้ประเทศที่ได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปต้องกลับมาทบทวนนโยบายการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง (Kwok, 2014, pp. 1) ข้อมูลจากรายงานของ Brock (2018) ใน War Resisters’ International ระบุว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่หลายประเทศจะกลับมาใช้ระบบการเกณฑ์ทหารอีกครั้ง ดังเช่นประเทศสวีเดนที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปเมื่อปี ค.ศ. 2010 หลังจากที่ใช้ระบบดังกล่าวมานานถึง 109 ปี แต่ภัยคุกคามอันเนื่องมาจากความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้านระหว่างยูเครนกับรัสเซียทำให้จำเป็นต้องกลับมาเกณฑ์ทหารใหม่ในปี ค.ศ. 2017 ส่วนประเทศยูเครนที่เพิ่งยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปได้เพียง 1 ปี เมื่อ ค.ศ. 2013 ก็หันกลับมาเกณฑ์ทหารอีกครั้งในปี ค.ศ. 2014 เป็นต้น

        สำหรับประเทศไทย การเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประกาศใช้ในการเกณฑ์ทหาร ซึ่งบังคับใช้ได้ทั่วราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2459 (ธนัย เกตวงกต, 2560, น. 6) ปัจจุบัน การคัดเลือกทหารกองประจำการเป็นไปตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ชายที่มีสัญชาติเป็นไทย ตามกฎหมายมีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน” โดยเริ่มจากการขึ้นบัญชีทหารกองเกินเมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการในปีที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ตามหมายเรียก สำหรับผู้มีที่ความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ หากมีคุณสมบัติพร้อมก็จะสามารถเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 35 (พ.ศ. 2516) และข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการรับบุคคลเข้ากองประจำการด้วยวิธีการร้องขอ พ.ศ. 2530 กล่าวได้ว่า การคัดเลือกทหารของไทยในปัจจุบันเพื่อให้ได้มาซึ่งทหารกองประจำการนั้นมาจากทั้งวิธีการเกณฑ์และวิธีการรับสมัคร

            ข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า การเกณฑ์ทหารมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นเดียวกับที่มีปรากฏทั่วโลก เนื่องจากการเกณฑ์ทหารส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยากถูกเกณฑ์ทหารและสนับสนุนให้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจแทน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้สมัครเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการในแต่ละปียังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่กองทัพกำหนด ข้อมูลการตรวจเลือกทหารกองประจำการรวบรวมโดย กองสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ในห้วงปี 2562 – 2564 พบว่า ผู้สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการในปี 2564 มีจำนวน 29,997 นาย คิดเป็นร้อยละ 30.7 จากยอดที่ต้องการทั้งหมด 97,558 นาย ซึ่งลดลงจากปี 2563 ที่มีผู้สมัครร้อยละ 44.7 และปี 2562 ร้อยละ 47.1 ทำให้ยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ การพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการคัดเลือกทหารกองประจำการจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่รอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายทั้งในระดับรัฐบาลและกองทัพ บทความนี้มุ่งนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทบทวนเอกสารเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกทหารกองประจำการในต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงที่มาและสถานการณ์ของการเกณฑ์ทหารทั่วโลก กรณีศึกษาประเทศที่มีการใช้ระบบการเกณฑ์ทหารและประเทศที่มีการใช้ระบบทหารอาสาสมัคร รวมทั้งบทเรียนที่ได้จากกรณีศึกษาในต่างประเทศดังกล่าว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อรัฐบาลและกองทัพในการกาหนดแนวทางปฏิรูประบบการคัดเลือกทหารกองประจำการของไทยให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

ที่มาและสถานการณ์ของการเกณฑ์ทหารทั่วโลก

            การเกณฑ์ทหารในรัฐชาติสมัยใหม่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของนโปเลียน ซึ่งจากการเกณฑ์ทหารจำนวนมากครั้งแรกในปี ค.ศ. 1793 ทำให้ปีต่อมา นโปเลียนสามารถขยายขนาดของกองทัพได้มากกว่า 750,000 นาย หลังจากที่ฝรั่งเศสได้รับชัยชนะในสนามรบจากการมีกองทัพขนาดใหญ่ ประเทศต่าง ๆ จึงลอกเลียนแบบการเกณฑ์ทหารของฝรั่งเศสจนนามาซึ่งการเกณฑ์ทหารจำนวนมากทั่วทั้งภูมิภาคยุโรป นับจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ กลายเป็นวิธีการพื้นฐานของการคัดเลือกทหารทั่วโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (Hall, 2011)

        ในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ประเทศต่าง ๆ ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารเข้าสู่กองทัพเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศมีอยู่โดยทั่วไป จนเมื่อสิ้นสุดครามโลกครั้งที่สองและมีการยุติลงของสงครามเย็น ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไป (Ronge and Giulla, 2019, pp. 3) โดยเริ่มให้ความสนใจในระบบทหารอาสาสมัครกันมากขึ้นหลังจากที่กองทัพสหรัฐโดยการนำของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน ได้นำระบบดังกล่าวมาใช้แทนการเกณฑ์ทหารในปี ค.ศ. 1973 (Hall, 2011) ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้กองกำลังที่เป็นอาสาสมัครทั้งหมดกันมากขึ้น เหตุผลหลักคือการที่ประเทศได้พัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่มั่นคงและการเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Kwok, 2014, pp. 1) อย่างไรก็ตาม Pew Research Center (2019) ระบุว่า สหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 23 ประเทศทั่วโลกที่เปลี่ยนไปใช้ระบบทหารอาสาสมัครแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการประกาศยกเลิกกฎหมายการเกณฑ์ทหารแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ได้นากฎหมายเกณฑ์ทหารมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการทหารเท่านั้น

            สำหรับสหภาพยุโรปนั้น หลังจากการยุติลงของสงครามเย็นและเกิดความมั่นคงในทวีป ประเทศส่วนใหญ่จะงดหรือยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 2013 สมาชิกสหภาพยุโรปจำนวน 24 ประเทศตัดสินใจยุติการเกณฑ์ทหาร อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารส่วนใหญ่จะสามารถนำระบบการเกณฑ์มาใช้ได้เมื่อเกิดสงครามหรือความจำเป็นอื่นตามที่รัฐบาลกำหนด และมีหลายประเทศที่มีการทบทวนถึงการนำลักษณะของการเกณฑ์หรือทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสกำลังพยายามนำ Universal National Service มาใช้ซึ่งไม่ใช่การเกณฑ์เพื่อมาปฏิบัติงานทหาร แต่เป็นงานของพลเรือน โดยให้เยาวชนทั้งชายและหญิงอายุ 16 ปี มาปฏิบัติงานสาธารณะหรือการกุศลพร้อมกับฝึกร่วมกับทหารหรือตำรวจเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นเข้าร่วมกิจกรรมอาสาโดยสมัครใจโดยปฏิบัติงานด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงรวมทั้งงานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีก 3 เดือน ส่วนสภาของเยอรมนีแนะนำให้มีการเกณฑ์มาปฏิบัติงาน 1 ปี อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้อพยพเพื่อให้มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับสังคมเยอรมัน สำหรับลัตเวียที่แม้จะไม่มีการนำการเกณฑ์ทหารกลับมาใหม่แต่ก็มีโครงการระบบการป้องกันแบบเบ็ดเสร็จ (Total Defence) โดยนำหลักสูตรการป้องกันประเทศและความมั่นคงไปสอนในโรงเรียน ทั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากการกลับมาแข็งแกร่งของรัสเซียและการเป็นพันธมิตรทางทหารที่สมาชิกสหภาพยุโรปจำเป็นต้องให้การสนับสนุนใน NATO มากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการเมืองของประเทศนั้น ๆ ด้วย ส่วนประเทศที่ยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่อาจมีทางเลือกเพิ่มให้ปฏิบัติงานในการบริการสาธารณะของส่วนราชการพลเรือน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่พร้อมทางด้านร่างกายหรือมีความเชื่อทางศาสนาที่คัดค้านการเป็นทหาร ปัจจุบัน มีเพียง 8 ใน 28 ประเทศที่ยังคงใช้ระบบการเกณฑ์อยู่ ได้แก่ ออสเตรีย ไซปรัส เดนมาร์ค    เอสโทเนีย ฟินแลนด์ กรีซ ลิทูเนียและสวีเดน (Ronge and Giulla, 2019, pp. 8-10)

            Pew Research Center โดย Desilver (2019) เปิดเผยข้อมูลที่รวบรวมได้จาก 191 ประเทศทั่วโลกว่ามี 85 ประเทศ หรือเกือบครึ่งหนึ่งที่ยกเลิกกฎหมายเกณฑ์ทหารไปแล้ว และ 60 ประเทศมีกฎหมายเกณฑ์ทหารและยังใช้ระบบการเกณฑ์ทหารอยู่ ส่วนประเทศที่มีกฎหมายเกณฑ์ทหารแต่ไม่มีการเกณฑ์ทหารเนื่องจากใช้ระบบสมัครแทนมีจานวน 23 ประเทศ และอีก 23 ประเทศที่เหลือที่ไม่มีทหาร โดยในจำนวนประเทศที่มีการเกณฑ์ทหาร 60 ประเทศนี้ มี 11 ประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิง ในขณะที่ประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารส่วนใหญ่ (49 ประเทศที่เหลือ) เกณฑ์เฉพาะเพศชายเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติอื่น ๆ จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

            จากข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดของการเกณฑ์ทหารทั่วโลกที่ปรากฏอยู่ในรายงานที่เผยแพร่ใน World Population Review (2021) สามารถนำมาวิเคราะห์และสรุปเป็นสถิติจำแนกตามภูมิภาคได้ว่า ประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 67 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 37.9 จากข้อมูล 117 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารนั้นกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ยกเว้น ภูมิภาคโอเชีเนีย ซึ่งไม่มีการเกณฑ์ทหารเลย สำหรับภูมิภาคเอเชียมีจำนวนประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารมากที่สุด 22 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 32.8 หรือ 1 ใน 3 ของประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารทั้งหมด รองลงมาคือ ภูมิภาคแอฟริกา 19 ประเทศ    (ร้อยละ 28.4) ภูมิภาคยุโรป 17 ประเทศ (ร้อยละ 25.4) ภูมิภาคลาตินอเมริกา และแคริบเบียน 7 ประเทศ (ร้อยละ 10.4) และภูมิภาคอเมริกาเหนือ 2 ประเทศ (ร้อยละ 3.0) ตามลำดับ ดังแสดงในแผนภูมิต่อไปนี้ 






แผนภูมิแสดงร้อยละของประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารจำแนกตามภูมิภาค

ที่มา: World Population Review (2021)

กรณีศึกษาประเทศที่มีการใช้ระบบการเกณฑ์ทหาร

สมาพันธรัฐสวิส

        สมาพันธรัฐสวิส หรือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กอยู่ในใจกลางของทวีปยุโรป มีประชากร 8,403,994 คน จำนวนทหาร 21,000 นาย จำนวนกำลังพลสารอง 218,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี ค.ศ. 2021 เป็นเงิน 5.07 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2019) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ. 2021 อยู่ลำดับที่ 30 (Global Fire Power, 2021)

        สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจในอดีตคือฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย และอิตาลี เนื่องจากเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย และมีทรัพยากรไม่มากนัก จึงไม่สามารถมีทหารอาชีพเป็นจำนวนมากได้ การป้องกันประเทศต้องใช้กำลังของประชากรทั้งประเทศ โดยใช้ระบบกำลังประจำถิ่น (Militia) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำ ทหารประจำถิ่นถือเป็นเครื่องมือของชาวสวิสในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศด้วย (Kwok, 2014, pp. 23) รัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดให้ชายชาวสวิสทุกคนเมื่อมีอายุ 19 ปี ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นระยะเวลานาน 245 – 300 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของทหาร ทางเลือกทดแทนการเป็นทหารคือการทำงานบริการสาธารณะ เช่น การดูแลบ้านคนชรา และอื่น ๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรับราชการมากกว่าการเป็นทหารอีกร้อยละ 50 หรือรวม 340 วัน ประเภทของทหารแบ่งตามลักษณะการประจำการออกเป็น 3 ประเภท (Tresch, 2010) ได้แก่

        1) ทหารประจำการ (Active soldiers) ผู้รับการเกณฑ์เข้ารับการฝึกทหารใหม่ 18 – 21 สัปดาห์ แล้วเรียนต่อในหลักสูตรต่าง ๆ อีก 6 – 7 หลักสูตร แล้วแต่ว่าปีใดจะได้เรียนหลักสูตรใด โดยจะต้องมีระยะเวลาประจำการรวม 260 วัน

        2) ทหารระยะเดียว (Single-term soldiers) ผู้รับการเกณฑ์เข้ารับราชการทหารครั้งเดียวติดต่อกันแล้วไม่ต้องเป็นทหารอีก โดยต้องมีเวลาประจำการรวม 300 วัน โดยมีกำลังพลประเภทนี้ไม่เกินร้อยละ 15

        3) กำลังสำรอง คือกำลังประจำถิ่นที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรตั้งแต่ยศร้อยเอกขึ้นไป จะถูกเรียกมาปฏิบัติราชการไม่เกิน 5 วันต่อปี

        กองทัพสวิสไม่มีทหารประจำการหลักมากนัก แต่สามารถระดมพลได้ภายใน 72 ชั่วโมง ทหารประมาณร้อยละ 95 มาจากการเกณฑ์ ซึ่งในจำนวนนี้รวมทั้งนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารชั้นประทวนด้วย ระบบทหารประจำถิ่นของสวิสให้ความสำคัญกับประชาชนที่มาปฏิบัติราชการทหาร โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งโครงในการบังคับบัญชาทหารซึ่งถือเป็นการสมัครใจในการทำงานเพื่อสังคม เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม และถือว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเกียรติบริษัทห้างร้านเอกชนในสวิสให้ความร่วมมือและเต็มใจในการให้พนักงานของตนไปปฏิบัติราชการทหารเพื่อความพร้อมของกองทัพและของประเทศเป็นอย่างดี (Armed Forces & Society, 2010) ทั้งนี้ ชายชาวสวิสที่ไม่ผ่านการคัดเลือกทหารจะต้องจ่ายภาษีเงินได้ร้อยละ 3 ต่อปี หรืออย่างต่า 400 ฟรังสวิส สำหรับผู้พิการที่ได้รับการยกเว้นจะเสียภาษีน้อยกว่าร้อยละ 50 ของคนปกติ และชายชาวสวิสที่อาศัยอยู่ต่างประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นทหารแต่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ร้อยละ 2 ให้กับประเทศ (War Resisters’ International, 2009)

สาธารณรัฐอิสราเอล

        สาธารณรัฐอิสราเอล หรือประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีประชากร 8,675,475 คน จำนวนทหาร 170,000 นาย จำนวนกาลังพลสำรอง 465,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี ค.ศ. 2021 เป็นเงิน 16.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 5.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2019) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ. 2021 อยู่ลำดับที่ 20 (Global Fire Power, 2021)

        อิสราเอลเป็นประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่เป็นปฏิปักษ์โดยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1947 มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดของประเทศและจำนวนประชากรที่น้อยทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการระดมสรรพกำลังรองรับภัยคุกคาม รวมทั้งไม่สามารถดำรงกำลังทหารประจำการขนาดใหญ่ไว้ได้เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงใช้การเกณฑ์ทหารเพื่อรองรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นโดยการตอบโต้กับข้าศึกอย่างรวดเร็ว จากการที่อิสราเอลต้องเผชิญกับศัตรูมาอย่างสม่ำเสมอทำให้ระบบการทหารมีอิทธิพลเหนืองานในด้านอื่นๆเนื่องจากเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของชาติ (Kwok, 2014, pp. 27) National Service Law of 1953 กำหนดให้ชายและหญิงชาวอิสราเอลอายุ 18 ปี ต้องเกณฑ์ทหาร โดยชายชาวอิสราเอลจะต้องถูกเกณฑ์นาน 30 เดือน (Fulbright, 2020) และประมาณร้อยละ 50 ของหญิงชาวอิสราเอลจะต้องถูกเกณฑ์นาน 2 ปี โดยบรรจุในหน่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบ (Kwok, 2014, pp. 27) สำหรับการฝึกทหารเบื้องต้นใช้เวลา 4 เดือน และการฝึกขั้นสูงตามตำแหน่งหน้าที่ใช้เวลา 4 เดือน ถึง 1 ปี (Israel Defense Forces, 2017)

            ปัจจุบัน กองทัพอิสราเอลให้ความสำคัญกับความเป็นทหารอาชีพมากกว่าจำนวนกำลังพล มุ่งเน้นระบบขีปนาวุธและขีดความสามารถด้านไซเบอร์ มีการปรับภัยคุกคามจากรูปแบบของสงครามตามแบบเป็นภัยคุกคามที่มาจากสงครามอสมมาตรและสงครามไม่ตามแบบ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย และได้ปรับลดกำลังทหารลงร้อยละ 30 ลดกำลังพลสำรองมากกว่า 100,000 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 สัดส่วนของผู้ที่เป็นทหารไม่ได้สะท้อนการเป็นตัวแทนสัดส่วนของประชากรเช่นที่เคยมา (เช่น กลุ่ม Modern Orthodox Jews ซึ่งมีสัดส่วนประชากรร้อยละ 8 แต่มีสัดส่วนในกองทัพในระดับนายทหารระดับล่างที่ร้อยละ 40) กองทัพและสังคมอิสราเอลเริ่มมีความห่างกันออกไปเรื่อย ๆ และเป็นไปได้ว่า นักการเมืองอาจใช้วาระการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นวาระในการหาเสียงในอนาคตอันใกล้นี้ (Jager, 2018) สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ได้แก่ กลุ่ม Ultra-Orthodox Jews หรือกลุ่ม Haredi ซึ่งมีร้อยละ 30 ของประเทศ ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง หญิงซึ่งแต่งงานแล้วหรือมีบุตร นักการศาสนาชายที่กำลังศึกษาในสถาบันกฎหมายยิว และนักการศาสนาหญิงที่ทำงานในการบริการสาธารณะและสังคม (Mahal-IDF-Volunteers.org, 2021) โดยผู้ที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารมีโทษจาคุก 2 – 5 ปี (The Law Library of Congress, 2019, pp. 1) 

สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

            สาธารณรัฐเกาหลี หรือประเทศเกาหลีใต้มีประชากร 51,835,110 คน จำนวนทหาร 600,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นพลทหารประมาณ 200,000 นาย จำนวนกำลังพลสำรอง 3,100,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี ค.ศ. 2021 เป็นเงิน 48.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2019) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ. 2021 อยู่ลำดับที่ 6 (Global Fire Power, 2021)

          เกาหลีใต้ได้ถูกผนวกเข้ากับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1910 และเข้าสู่สงครามเกาหลีในปี ค.ศ. 1950 – 1953 จึงทำให้มีความตื่นตัวมากกับสถานการณ์สงคราม กฎหมาย The Military Service Act of 1949 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ใน ปี ค.ศ. 1957 กำหนดให้ชายเกาหลีใต้ทุกคนที่อายุ 19 ปีหรือมากกว่าต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเป็นทหาร สำหรับผู้หญิงมีหน้าที่ในการป้องกันชาติแต่ไม่มีหน้าที่เป็นทหาร หากสมัครเป็นทหารจะสามารถรับราชการเป็นทหารประจำการ ทหารสำรอง และ Civil Defense Corps ได้ มีระยะเวลาเข้ารับราชการในกองทัพประมาณ 2 ปี (18 – 22 เดือน) แล้วแต่เหล่าทัพที่สังกัด เกาหลีใต้มีการเกณฑ์ทหาร 2 แบบ คือ การเกณฑ์เป็นทหารประจำการปกติ (Active Duty Military Service) สำหรับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว จะได้รับการเลื่อนลำดับชั้นยศแต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดและพักอาศัยในกรมทหารจนถึงปลดประจำการ และการเกณฑ์เป็นทหารเพื่อทำงานบริการสาธารณะ (Non-Active Military Service) สำหรับคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการเลื่อนยศ แต่มีประกาศนียบัตรการประพฤติตัวดีมอบให้หากปฏิบัติงานได้ดี สามารถกลับไปพักอาศัยที่บ้านได้ในห้วงที่เป็นทหาร การเกณฑ์ทั้ง 2 แบบนี้จะมีการฝึกขั้นพื้นฐาน 5 สัปดาห์ ก่อนจะแยกย้ายไปตามหน้าที่

           โดยปกติ ทหารเกณฑ์ทุกคน (ยกเว้นผู้สาเร็จโรงเรียนนายร้อยตารวจซึ่งจะไปเป็นหัวหน้าหมวดในกองทหารตารวจ) จะมีการเลื่อนยศไปตามลาดับตามห้วงระยะเวลา เมื่อรับราชการครบกาหนด 10 เดือน จะเลื่อนยศเป็นสิบตรีกองประจำการ เมื่อครบ 17 เดือน เป็นสิบโท และช่วงเวลาที่เหลือก่อนปลดประจำการเป็นสิบเอก ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมมีกฎระเบียบห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาทหารสั่งการหรือใช้งานทหารเกณฑ์ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว สาหรับค่าตอบแทนหรือการชดเชยรายได้ขณะเข้าเป็นทหารนั้น ทหารกองประจำการจะได้รับเงินเดือน 306,100 วอน (8,200 บาท) สิบตรีกองประจำการ 331,300 วอน (8,900 บาท) สิบโท 366,200 วอน (9,800 บาท) และสิบเอก 405,700 วอน (11,000 บาท) เกาหลีใต้ได้กาหนดข้อยกเว้นในการเกณฑ์ทหารไว้หลายกรณี เช่น ร่างกายไม่ได้ขนาดร่างกาย ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วย เคยรับโทษจาคุกมากกว่า 1 ปี 6 เดือน การแปลงเพศหรือสภาพร่างกายที่อาจเป็นอันตรายต่อการฝึก ครอบครัวมีรายได้น้อย มีบุตรมากกว่า 3 คน เป็นนักกีฬาทีมชาติและแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือเอเชียนเกมส์ได้เหรียญทอง เป็นต้น เมื่อปลายปี 2561 ศาลฎีกาของเกาหลีใต้ยังได้พิจารณาพิพากษาให้ชายที่ต้องเข้ารับเกณฑ์ทหารสามารถปฏิเสธการรับราชการได้ถ้ามีเหตุผลด้านศาสนา สาหรับการผ่อนผันสามารถทาได้ตามข้อตกลงของกองทัพเกาหลีใต้ (Korea’s Military Manpower Association – MMA) อย่างไรก็ตาม จะไม่สามารถผ่อนผันได้เมื่อมีอายุครบ 28 ปี (กรมข่าวทหารบก, 2562)

สาธารณรัฐสิงคโปร์

            สาธารณรัฐสิงคโปร์ หรือประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากร 6,209,660 คน จำนวนทหาร 72,500 นาย จำนวนกำลังพลสำรอง 1,385,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี ค.ศ. 2021 เป็นเงิน 10.70 พันล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 3.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2019) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ.2021 อยู่ลำดับที่ 40 (Global Firepower : 2021) 7

            สิงคโปร์มีประชากรส่วนใหญ่เชื้อสายจีน แยกตัวออกมาจากประเทศมาเลเซียโดยเป็นเอกราชเมื่อ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 ยึดถือนโยบายหลักหลังจากการก่อตั้งประเทศคือ การพึ่งตนเองในทุก ๆ ด้าน และการป้องกันประเทศโดยมาตรการป้องปราม โดยในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศ สิงคโปร์ยังไม่มีกำลังทหาร (Kwok 2014: 31-32) จากการที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะขนาดเล็ก ขาดความลึกทางยุทธศาสตร์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระดมพลในการป้องกันประเทศในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลจึงมีความจำเป็นในการใช้กำลังทางเรือในการป้องกันด้วย ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของสิงคโปร์คือการใช้การป้องปรามและการทูต ระบบการเกณฑ์ทหารของสิงคโปร์มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 มีหลักการคือ ระดมสรรพกำลังให้มากที่สุด ภายในเวลาที่สั้นที่สุด ใช้กำลังประจำการจำนวนน้อยเพิ่มเติมด้วยกำลังจากการเกณฑ์ซึ่งรับราชการ 2 ปี แล้วบรรจุเป็นกำลังพลสำรอง (Kwok: 2014, 33-35) ระบบดังกล่าวกำหนดให้ชายชาวสิงคโปร์และชายที่เป็นบุตรของผู้ที่ได้รับสถานภาพเป็น Permanent Resident (PRs) ทุกคนที่มีอายุ 16 ปี 6 เดือน จะต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร (Pre-enlist) ระหว่างรอรับหมายเรียกทหาร (อายุครบ 18 ปี) บุคคลดังกล่าวจะต้องรับการตรวจสุขภาพและเตรียมความพร้อมทางร่างกาย เมื่ออายุครบ 18 ปี จะถูกเรียกเกณฑ์เข้ารับใช้ชาติด้วยการเป็น Full-time National Service (NSF) เป็นระยะเวลา 2 ปี จะเข้าปฏิบัติงานเป็นทหารในกองทัพสิงคโปร์ (Singapore Armed Forces – SAF) ทั้งสามเหล่าทัพ (กรมข่าวทหารบก, 2562)

         กำลังพลที่ถูกเกณฑ์เป็น NSF ทุกนาย ทุกเหล่าทัพ จะต้องเข้ารับการฝึกขั้นพื้นฐาน (Basic Military Training: BMT) แบบรวมการทั้งกองทัพเป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ผลัด จากนั้นกำลังพลทั้งหมดจะถูกคัดเลือกเพื่อบรรจุเข้าเป็นทหารประจำการ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) นายทหารสัญญาบัตร โดยพิจารณาจากผลการฝึกดี มีลักษณะความเป็นผู้นาทางทหารที่ดี จำนวนประมาณร้อยละ 10 ไปเข้ารับการศึกษาใน Officer Cadet School ระยะเวลา 40 สัปดาห์ แล้วแต่งตั้งยศเป็น ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี แล้วแยกไปปฏิบัติงานในหน่วยจนครบระยะเวลา 2 ปี จึงจะปลดจากกองประจำการ 2) นายทหารประทวน พิจารณาจากผลการฝึกและลักษณะทางทหารที่ดี มีผลการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ในเกณฑ์ดี มีร่างกายแข็งแรง และมีความสมัครใจ จำนวนประมาณร้อยละ 20 – 30 เข้ารับการศึกษาใน Special Cadet School แยกตามเหล่าทัพของตนเอง ระยะเวลา 22 สัปดาห์ครึ่ง แล้วแต่งตั้งยศเป็นสิบตรีแยกไปปฏิบัติงานในหน่วยจนครบระยะเวลา 2 ปี ก่อนปลดจากกองประจำการ และ 3) พลทหาร (ส่วนที่เหลือ) จะถูกส่งไปปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยต่าง ๆ ของทั้งสามเหล่าทัพ ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนทหารแล้วจะสามารถขอผ่อนผันเพื่อให้จบการศึกษาขั้นมัธยมศึกษา หรือโพลีเทคนิค หรืออาชีวศึกษา ตามอายุและประเภทสถาบันการศึกษาที่แตกต่างกันไป แต่ไม่เกิน 21 ปี โดยไม่อนุญาตให้ผ่อนผันการรับราชการทหารเพื่อการศึกษาในขั้นอุดมศึกษาในหรือนอกประเทศ (กรมข่าวทหารบก, 2562)

กรณีศึกษาประเทศที่มีการใช้ระบบทหารอาสาสมัคร

สหรัฐอเมริกา

        ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประชากรกว่า 332 ล้านคน จานวนทหาร 1.4 ล้านนาย ในจำนวนนี้มีกำลังพลสำรอง 845,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี 2021 เป็นเงิน 740.5 พันล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมในปี 2019 คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP และลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี 2021 อยู่ลำดับที่ 1 (Global Fire Power, 2021)

        สหรัฐอเมริกาเริ่มเกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรกในสมัยสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865) หลังจากนั้นไม่มีการใช้การเกณฑ์ทหารอีกจนกระทั่งในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1917 และอีกครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1940 ซึ่งมีการใช้อีกครั้งในกรณีสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามช่วงทศวรรษที่ 1960 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำ ให้ประชาชนชาวอเมริกันได้ร่วมกันออกมาต่อต้านระบบการเกณฑ์ทหาร ประธานาธิบดีนิกสัน ผู้นำสหรัฐอเมริกายุคนั้นจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางของทหารอาสาสมัคร ทำให้การเกณฑ์ทหารได้ยุติลงในปี ค.ศ. 1973 (Kwok, 2014) การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นทหารอาสาสมัครทั้งหมดเป็นสิ่งท้าทายเนื่องจากสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาด้านกำลังพลในปีแรกที่เริ่มระบบดังกล่าว ซึ่งได้แก้ไขปัญหาโดยการปรับปรุงในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเพิ่มค่าตอบแทน การปรับสภาพแวดล้อมในหน่วยทหาร การจ้างเอกชนทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร การปรับใช้ข้าราชการกลาโหมพลเรือนทดแทนในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น การเพิ่มทหารหญิง การปรับลดกำลังทหาร และการปรับกระบวนการคัดเลือกและประชาสัมพันธ์การรับสมัคร (Kwok, 2014)

การดำเนินการของสหรัฐอเมริกาจนถึงขั้นยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารได้สาเร็จแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นการปฏิบัติ (Griffith, 1996) ได้แก่

        1) ขั้นที่ 1 การศึกษาเพื่อเตรียมการยกเลิก (ค.ศ. 1968 – 1969) ในช่วงปลายปี 1968 กองทัพบกได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการเป็นทหารอาชีพ (Career Force Study Group) โดยใช้ปัจจัยในการศึกษา 4 ประการ ได้แก่ เป้าหมายจำนวนทหารอาสาสมัครที่กองทัพบกต้องการ คุณภาพของอาสาสมัคร (วุฒิการศึกษาและระดับสุขภาพร่างกายและจิตใจ) งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ และปัจจัยทางสังคม (เช่น สภาพประชากร อัตราการเกิด ทัศนคติของประชาชนต่อกองทัพ เป็นต้น) ต่อมา ประธานาธิบดีนิกสัน ได้จัดตั้งคณะกรรมการกองทัพอาสาสมัคร (Commission on an All-Volunteer Armed Force) และกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งโปรแกรมโครงการอาสาสมัคร (Project Volunteer Program) และคณะทางานประเมินผล (Program Evaluation Group) ปี 1970 ประธานาธิบดีนิกสันประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหารภายใน 2 ปี ขึ้นเงินเดือนให้กับทหารที่ทำงานน้อยกว่า 2 ปี เพิ่มงบประมาณให้กับระบบทหารอาสาสมัคร 2,000 ล้านดอลลาร์ ขยายผลโครงการเพิ่มผู้สมัครทหารและเพิ่มการสมัครรับราชการต่อของทหาร รวมทั้งโครงการสนับสนุนความเป็นอยู่ แรงจูงใจ และขีดความสามารถของทหาร และประกาศถอนทหาร 150,000 นาย ออกจากเวียดนามภายในปี ค.ศ. 1971

      2) ขั้นที่ 2 การทดลอง (ค.ศ.1970 – 1972) กองทัพบกจัดทำโครงการทหารอาสาสมัคร (Volunteer Army Project) เป็นการทดลองระบบทหารอาสาสมัคร ยึดหลักเพิ่มและพัฒนากำลังเจ้าหน้าที่คัดเลือก ยกเลิกสิ่งที่ทหารไม่พอใจ และพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของทหาร เพื่อเพิ่มยอดอาสาสมัครและยอดผู้สมัครใจอยู่ต่อในหน่วยกาลังรบ โดยทดลองในค่ายทหารหลายแห่งในปี ค.ศ.1971 แต่ละค่ายได้งบ 5 ล้านดอลลาร์ แล้วขยายไปทุกค่าย รวมใช้งบประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ ใน 6 เดือน ผลการดำเนินการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 1972 ถือว่ากองทัพบกประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านในขั้นต้น โดยกำลังพลกองทัพบกได้รับประโยชน์จากทหารอาสาสมัคร 300,000 นาย การขาดหนีทหารใน Ft Carson ลดลง 90% ทหารทำงานได้นานขึ้นเพราะได้พักเสาร์-อาทิตย์ ระเบียบวินัยและผลงานดีขึ้น อาหารดีขึ้น ทหารมีทัศนคติที่ดีขึ้น มีการจ้างประกอบเลี้ยงและจ้างงานที่ใช้แรงงาน มีความเป็นส่วนตัวในที่พัก มีความพอใจในโอกาสการศึกษาต่อและการพัฒนาอาชีพ สิ่งที่ทหารต้องการคือการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา สรุปในภาพรวมของโครงการทำให้ทหารมีทัศนคติที่ดีต่อกองทัพบกและสมัครเป็นทหารต่อมากขึ้น สำหรับหน่วยงานที่มีความสาคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการรับสมัครและคัดเลือกทหารคือ U.S. Army Recruiting Command ซึ่งมีหน้าที่ในการคัดเลือกผู้สมัครเพื่อเป็นทหารให้กับกองทัพบก มีสำนักงานย่อย 950 แห่ง ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทหารอาสาสมัคร หน่วยงานนี้จะจัดทำโครงการใหม่ ๆ เพื่อรองรับการดำเนินการ

        3) ขั้นที่ 3 การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร (ค.ศ.1972 – 1974) รัฐบาลได้ประกาศให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและยุบเจ้าหน้าที่ในการเกณฑ์ทหารทั้งสิ้น เมื่อการเกณฑ์ทหารสิ้นสุดลงในปี 1973 กองทัพบกยังขาดกำลังอีก 14,000 อัตรา จึงได้แก้ไขปัญหาโดยเพิ่มทหารหญิงและข้าราชการพลเรือนทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม ผลของการดำเนินการข้างต้นทำให้ปี 1974 กองทัพบกสามารถคัดเลือกทหารอาสาสมัครเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 123 ของเป้าหมาย รัฐมนตรีทบวงกองทัพบกจึงประกาศความสำเร็จในการที่มีทหารอาสาสมัครตามเกณฑ์ที่รัฐสภากำหนด รวมระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากระบบการเกณฑ์ทหารเป็นระบบทหารอาสาสมัครของสหรัฐอเมริกานาน 6 ปี

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

       เยอรมนีมีประชากร 80,159,662 คน จำนวนทหาร 185,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นกำลังพลสำรอง 30,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี 2021 เป็นเงิน 57.43 พันล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 1.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2019) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ. 2021 อยู่ลำดับที่ 15 (Global Fire Power, 2021)

    เยอรมนีซึ่งใช้ระบบการเกณฑ์ทหารมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 ได้ตัดสินใจยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารเมื่อปี ค.ศ. 2011 โดยเมื่อในปี ค.ศ. 2010 กระทรวงกลาโหมได้เริ่มการปฏิรูประบบของกองทัพเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติและวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เยอรมนีเองยังได้รับการปกป้องในด้านการป้องกันประเทศในฐานะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ การป้องกันร่วมในองค์การฐานะสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และในฐานะของสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ความจำเป็นในการคงกำลังทหารจำนวนมากในยามปกติจึงลดลงจึงส่งผลให้มีการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพ การลดกาลังทหารและได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 (Kwok, 2014) ทั้งนี้ประโยชน์ในการยุติการเกณฑทหารที่ได้รับคือการลดขนาดกองทัพและค่าใช้จ่าย และสามารถนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้พัฒนากองทัพให้ทันสมัยขึ้น (สุชาติ วรสุข, พ.อ., 2563)

        ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ที่เยอรมันยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทำให้ประสบอุปสรรคคือมีผู้สนใจสมัครน้อย อัตราบรรจุใหม่ประมาณ 20,000 อัตรา ไม่สามารถจัดกำลังพลได้ครบ รวมทั้งกำลังพลที่สมัครส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีคุณภาพซึ่งอาจทำให้กองทัพเยอรมันขาดแคลนกำลังสำรองที่มีคุณภาพในระยะยาว จากการถกเถียงกันอย่างยาวนานหลายทศวรรษ รวมทั้งแนวโน้มภายในรัฐสมาชิก NATO ที่จะพัฒนากองทัพสู่ความเป็นมืออาชีพ ในที่สุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงสั่งระงับการใช้ระบบการเกณฑ์ทหาร หลังจากปี ค.ศ. 2011 ชายชาวเยอรมันไม่จึงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารอีกต่อไป กองทัพเยอรมันคงเหลือแต่ทหารอาชีพและผู้ที่สมัครใจเท่านั้น (Windwehr, 2017) โดยผู้ที่มีอายุ 17 – 29 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าสามารถสมัครเป็นทหารและนักเรียนนายทหารได้ที่ศูนย์ประเมินผลกำลังพลทหารกองทัพเยอรมัน (Assessmentcenter für Führungskräfte der Bundeswehr) นายทหารชั้นประทวนระดับจ่าสิบตรีที่มีผลการปฏิบัติงานดีเลิศก็สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนายทหารได้เช่นกัน นักเรียนนายทหารร้อยละ 1 – 2 ในแต่ละรุ่น จะได้รับการพิจารณาให้เป็นทหารอาชีพโดยยึดถือผลการเรียนระดับมหาวิทยาลัย หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารและผ่านช่วงเวลาทดลองงาน 4 ปี นายทหารส่วนที่เหลือจะถูกบรรจุเป็นนายทหารตามระยะเวลาและนายทหารสารองต่อไป ด้านแรงจูงใจ ทหารจะได้รับสวัสดิการในฐานะข้าราชการ ได้รับเงินดูแลบิดา-มารดาและบุตร การศึกษาบุตร ไม่ต้องจ่ายประกันสุขภาพ (รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทหาร) ไม่ต้องจ่ายประกันสังคม ได้รับการศึกษาเพิ่มเติมความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไม่ต้องจ่ายภาษีประกันบานาญ มีส่วนลดประกันรถยนต์ มีเงินเติมสำหรับครอบครัว เงินเพิ่มพิเศษตามหน้าที่และตำแหน่ง รวมทั้งเงินเสี่ยงภัย

สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

    ไต้หวันมีประชากร 23,603,049 คน จำนวนทหาร 165,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นกำลังพลสำรอง 1,655,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี ค.ศ. 2021 เป็นเงิน 13.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ1.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2019) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ. 2021 อยู่ลำดับที่ 22 (Global Fire Power, 2021)

    การเกณฑ์ทหารถูกนำมาใช้ในไต้หวันนับตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามกลางเมืองของจีนในปี ค.ศ. 1949 ไต้หวันเป็นเกาะขนาดเล็ก มีประชากรน้อย แต่มีศัตรูที่มีศักยภาพมากกว่าในทุก ๆ ด้าน คือจีน การเกณฑ์ทหารจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของไต้หวันในขณะนั้น อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2008 ไต้หวันเริ่มดำเนินการเพื่อยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2014 (Kwok, 2014) อย่างไรก็ตาม ไต้หวันประสบปัญหาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายจำนวนทหารอาสาสมัครตามที่วางแผนไว้ จึงทำให้ในเดือนกันยายน 2013 กระทรวงกลาโหมได้ประกาศเลื่อนเวลาการเปลี่ยนผ่านจากเดือนธันวาคม 2014 เป็นธันวาคม 2016 โดยได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทหารอาสาสมัครในปี ค.ศ. 2017

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไต้หวันยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารมี 3 ประการ ประการที่หนึ่ง จากการลดลงของประชากรทาให้จำนวนทหารที่สามารถเกณฑ์ได้ลดลง ประการที่สอง ในห้วงเวลาที่เริ่มดำเนินการตามแผนการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นไปอย่างราบรื่น และประการที่สาม การลดลงของระยะเวลาในการเกณฑ์ทหารจาก 3 ปี ลงเหลือ 1 ปี ที่ดำเนินมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการลดระยะเวลาการเกณฑ์ทหารลงนี้มาจากการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากความกังวลของผู้ปกครองซึ่งต้องการให้ลูกมีเวลาในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับปัญหาความไม่เชี่ยวชาญในการรบจากการที่ได้รับการฝึกเพียง 12 เดือน นอกจากแรงกดดันทางการเมืองแล้วยังมีเหตุทหารเกณฑ์เสียชีวิตจากการลงโทษที่รุนแรงและผิดกฎหมายทำให้สังคมออกมากดดันให้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ (Kwok: 2014) กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดทำแผนการยกเลิกการเกณฑ์เป็น 4 ระยะ โดยค่อย ๆ เพิ่มทหารอาสาสมัครร้อยละ 10 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2014 (Kwok, 2014) และปรับลดจำนวนทหารประจำการลงพร้อม ๆ กับการปรับลดเป้าหมายจำนวนอาสาสมัครที่ต้องการในแต่ละปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการรวมทั้งการเสนอเป็นกฎหมายหลายฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ ได้แก่ การขึ้นเงินเดือนของพลทหารให้มากกว่า 2 เท่าของค่าแรงขั้นต่า การสนับสนุนเงินค่าทำงานหนัก การปรับปรุงแนวทางรับราชการ การเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อ การปรับปรุงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์หลังการเกษียณอายุราชการและสวัสดิการของครอบครัว เป็นต้น การที่ไต้หวันประสบความสำเร็จกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทหารอาสาสมัครนั้น งบประมาณของกองทัพโดยเฉพาะในส่วนที่ใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับพลทหารมีส่วนสำคัญมาก ในเดือนกรกฎาคม 2020 กระทรวงกลาโหมไต้หวันได้ประกาศบรรลุเป้าหมายทหารอาสาสมัครแล้วร้อยละ 84 และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายเป็นร้อยละ 90 ในปี 2021 ซึ่งปัจจุบัน ไต้หวันมีทหารทั้งที่เกณฑ์มาเพื่อการฝึก 4 เดือน และที่สมัครใจเป็นทหาร 4 ปี (Radio Taiwan International, 2019)

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

    สาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือประเทศอินโดนีเซีย มีประชากร 267,026,366 คน จำนวนทหาร 400,000 นาย ในจำนวนนี้เป็นพลทหาร จำนวนกำลังพลสารอง 400,000 นาย งบประมาณด้านกลาโหมในปี ค.ศ. 2021 เป็นเงิน 9.2 พันล้านดอลลาร์ ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (ข้อมูลปี 2021) ลำดับความแข็งแกร่งทางทหารในปี ค.ศ. 2021 อยู่ลำดับที่ 16 (Global Fire Power, 2021)

    อินโดนีเซียไม่มีการเกณฑ์ทหารแต่ใช้วิธีรับสมัครพลเรือนเพื่อเข้ามาเป็นทหารกองประจำการ กองทัพอินโดนีเซียจะลงประกาศรับสมัครกำลังพลเพื่อเข้าเป็นทหารทุกปีผ่านเว็บไซต์โดยกำหนดโควต้าให้แต่ละเหล่าทัพ ส่วนกองทัพบกจะกำหนดโควต้าให้แต่ละกองทัพภาค (Kodam) ตามภัยคุกคามและความจำเป็น รายละเอียดในการรับสมัครกำลังพลแต่ละประเภทจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้

    1) พลทหาร (Tamtama) อายุ 18 ปีขึ้นไป คุณวุฒิมัธยมศึกษาต้น ส่วนสูงไม่ต่ากว่า 163 ซม. มีทัศนคติที่ดีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียและกองทัพ ไม่เคยแต่งงานมาก่อนและต้องไม่แต่งงานภายหลังได้รับการคัดเลือกแล้ว 2 ปี เปิดสอบคัดเลือกปีละ 2 ครั้ง ต้องประจำการอย่างน้อย 10 ปี แต่ละกองทัพภาค (Kodam) จะมีกองการฝึกกองทัพภาค (Rinduk Kodum) ดำเนินการฝึกแบบรวมการ ระยะเวลาฝึก 2 เดือน โดยพลทหารได้รับเงินเดือนประมาณ 2.5 ล้านรูเปียร์ (ประมาณ 5.3 พันบาท) เบี้ยเลี้ยงและเงินประจำตำแหน่งประมาณ 2.5 ล้านรูเปียร์ (ประมาณ 5.3 พันบาท) รวมได้รับ 5 ล้านรูเปียร์ (ประมาณ 10,600 บาท)

    2) นายสิบ (Bintara) อายุอย่างน้อย 17 ปี 9 เดือน ถึง 22 ปี คุณวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนสูงสำหรับผู้ชายไม่ต่ากว่า 163 ซม. และผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 157 ซม. มีทัศนคติที่ดีต่อ รบ.อินโดนีเซีย และกองทัพ สุขภาพร่างกาย/จิตใจแข็งแรง ไม่สวมแว่นตา ไม่มีประวัติคดีอาญา ไม่เคยแต่งงานมาก่อน และต้องไม่แต่งงานภายหลังที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว 2 ปี ต้องประจำการอย่างน้อย 10 ปี โดยต้องมีคะแนน Onet ประมาณ 50 (ซึ่งในปี 2562 ต้องมีคะแนน Onet 40.5 สำหรับประจำการในเกาะชวา, สุมาตรา และบาหลี และคะแนน Onet 38.5 สำหรับประจำการที่อื่นๆ) แต่ละกองทัพภาค จะมีกองการฝึกกองทัพภาคดำเนินการฝึกแบบรวมการ ระยะเวลาฝึก 2 เดือน ได้รับเงินเดือนประมาณ 3 ล้านรูเปียร์ (ประมาณ 6,600 บาท) เบี้ยเลี้ยงและเงินประจำตาแหน่งประมาณ 3 ล้านรูเปียร์ (ประมาณ 6,600 บาท) รวมได้รับ 6 ล้านรูเปียร์ (ประมาณ 13,200 บาท)

    3) นายทหาร (Taruna Akmil) อายุ 17 ปี 9 เดือน ถึง 22 ปี คุณวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนสูงสำหรับผู้ชายไม่ต่ำกว่า 163 ซม. มีทัศนคติที่ดีต่อรัฐบาลและกองทัพ สุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรง ไม่สวมแว่นตา ไม่มีประวัติคดีอาญา ไม่เคยแต่งงานมาก่อน และต้องไม่แต่งงานภายหลังที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว 2 ปี โดยต้องมีคะแนน Onet ประมาณ 55 (ในปี 2562 ต้องมีคะแนน Onet 47.5) เข้ารับการฝึกที่ โรงเรียนนายร้อยอินโดนีเซีย ระยะเวลาฝึกและศึกษา 4 ปี

    กองทัพ อินโดนีเซีย จะปลดประจำการกาลังพล (เกษียณ) เมื่ออายุ 53 ปี สาหรับนายทหารชั้นประทวน และอายุ 56 ปี สาหรับนายทหารชั้นสัญญาบัตร

บทเรียนที่ได้จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ: นัยยะสำคัญต่อประเทศไทย


กุญแจแห่งความสำเร็จของระบบการเกณฑ์ทหาร

- การเกณฑ์ทหารภายใต้ฐานคิดในการป้องกันประเทศร่วมกันของทุกภาคส่วน ดังเช่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการใช้แนวคิดการต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จ (Total Defence) ในการเกณฑ์ทหารทำให้คนในสังคมยอมรับว่าทุกคนต้องร่วมมือกันในการปกป้องประเทศ และลดความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่องการเกณฑ์ทหารได้ (Kwok, 2014, pp. 45-46)

- การใช้ระบบการเกณฑ์ทหารสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ในกรณีของกองทัพอิสราเอล การเกณฑ์ทหารเป็นเสมือนกลไกในการพัฒนาประเทศด้านการศึกษาและเศรษฐกิจผ่านการหล่อหลอมทางสังคมเนื่องจากราวครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นผู้อพยพมาจากประเทศอื่น การเกณฑ์ทหารจะมีการอบรมภาษาฮีบรูว์และวัฒนธรรมอิสราเอลให้กับกำลังพล ในขณะเดียวกัน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยและพัฒนาของกองทัพก็ทำให้ประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีนำไปสู่สายการผลิตทางทหารป้อนทั้งพลเรือนและทหาร รวมไปถึงการส่งออก จึงทำให้กองทัพอิสราเอลมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นไปได้ยากที่จะมีการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร (Kwok, 2014, pp. 28-29)

- การเกณฑ์ทหารที่มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทของสังคม ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์มีการผ่อนคลายกฎระเบียบการเกณฑ์ทหารเมื่อเผชิญกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง การใช้ Outsource ในการบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบ การปรับโครงสร้างกองทัพ และการนำเทคโนโลยีมาทดแทนกำลังคนเพื่อลดระยะเวลาการเกณฑ์ลง (Kwok, 2014, pp. 50-51) อิสราเอลมีการลดระยะเวลาการรับราชการทหารเพื่อประหยัดงบประมาณและเพื่อให้ผู้ที่ปลดประจำการได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เร็วขึ้น รวมทั้งลดอายุของกาลังพลสำรองและผ่อนคลายการเกณฑ์สตรีแทนการยกเลิกการเกณฑ์เนื่องจากยังมีภัยคุกคามทางทหารอยู่ (Fulbright, 2020) และสวิตเซอร์แลนด์มีการปรับใช้กำลังทหารประจำการจำนวนน้อยแต่ใช้กำลังทหารประจำถิ่นเป็นหลักเพื่อประหยัดงบประมาณ (Tresch, 2010)

- การใช้ระบบการเกณฑ์ทหารเป็นพื้นฐานไปสู่การสร้างผู้นำทางทหารที่มีคุณภาพ ดังที่กองทัพอิสราเอลมีการคัดเลือกผู้นำทางทหารที่มีคุณภาพมาเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยในระดับต่าง ๆ จากการคัดเลือกทหารกองประจำการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการแล้วส่งเสริมให้ได้รับตำแหน่งและการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมให้เป็นผู้นำระดับหมวดและกองร้อยต่อไป (Eiland, 2016, pp. 21)

- การผลัดเปลี่ยนกำลังพลโดยคำนึงถึงความชำนาญในการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพลที่มีทักษะและความชำนาญด้านการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศไม่ควรมีการผลัดเปลี่ยนบ่อย ดังเช่นกองทัพสิงคโปร์ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่มีการสับเปลี่ยนกำลังพลบ่อยจึงทำให้กำลังพลที่เข้าใหม่ขาดความชำนาญในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการเกณฑ์ประชาชนมาเป็นทหารประจำถิ่นแบบครั้งคราวของกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ก็อาจส่งผลกระทบต่อความชำนาญงานของกำลังพลได้เช่นกัน (Kwok, 2014)

- การเกณฑ์ทหารที่สนับสนุนความพร้อมของระบบกำลังสารอง ดังเช่นกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งบรรจุผู้ที่ปลดประจำการไว้ในระบบกาลังสารองเพื่อจัดให้ผู้ที่ปลดประจำการ 4 ปีแรกเป็นกำลังสำรองพร้อมรบซึ่งจะเรียกมาฝึกทบทวนการรบ และ 4 ปีต่อมาจะจัดให้เป็นกาลังสารองป้องกันมาตุภูมิซึ่งจะเรียกมาฝึกทบทวนทางทหารทั่วไป (กรมข่าวทหารบก, 2562)

- การให้ความสาคัญกับทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อกองทัพและการเกณฑ์ทหาร ตัวอย่างเช่น กองทัพสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของประชาชน รวมทั้งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาภาคเอกชนในการให้พนักงานลางานเพื่อไปปฏิบัติราชการทหาร (Tresch, 2010) ส่วนสิงคโปร์มีการจัดกิจกรรมพิเศษให้นักเรียนได้พบปะกลุ่มบุคคลในเครื่องแบบเพื่อสร้างความคุ้นเคยและลดความหวาดกลัวในกลุ่มเยาวชน (Kwok, 2014, pp. 45-46)

- การให้ความสาคัญกับความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งสิทธิและหน้าที่ เช่น ชายชาวสิงคโปร์ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะต้องเกณฑ์ทหารทุกนาย ไม่ต้องจับฉลาก และไม่ส่งไปปฏิบัติงานในส่วนราชการพลเรือน ซึ่งแสดงถึงความเท่าเทียมและความสาคัญของการเกณฑ์ทหารเพื่อการป้องกันประเทศ (Chang, 2013, pp. 48) ส่วนเกาหลีใต้มีกฎระเบียบห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาทหารสั่งการหรือใช้งานทหารเกณฑ์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทาให้ทหารสามารถปฏิบัติภารกิจทางทหารได้อย่างเต็มที่ เกิดความภูมิใจและมีขวัญกาลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศร่วมกับกองทัพ (Kwok, 2014)

กุญแจแห่งความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทหารอาสาสมัคร

- การพัฒนาระบบทหารอาสาสมัครที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) ปริมาณ (Quantity) หมายถึง จำนวนทหารกองประจำการที่บรรจุตามเป้าหมายที่กาหนด 2) คุณภาพ (Quality) หมายถึง วุฒิการศึกษาและ13

สมรรถภาพร่างกาย/จิตใจ 3) งบประมาณ (Budget) ที่จำเป็นต้องใช้ในจำนวนที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนให้ได้ และ 4) นัยยะทางสังคม (Social implication) หมายถึง สัดส่วนของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นทหารกองประจำการที่สามารถสะท้อนหรือเป็นตัวแทนของประชากรแต่ละกลุ่มในสังคม รวมทั้งทัศนคติของประชาชนที่มีต่อกองทัพ

- การพัฒนาระบบทหารอาสาสมัครโดยศึกษาแนวทางปฏิบัติและทดลองใช้ ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนคือรัฐบาลของประธานาธิบดีนิกสันที่มอบหมายให้กองทัพบกสหรัฐอเมริกาศึกษาแนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทหารอาสาสมัครและจัดทาโครงการทดลองในค่ายทหารนำร่อง ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มใช้ระบบดังกล่าวจริง (Griffith, 1996)

- การพัฒนาระบบทหารอาสาสมัครบนพื้นฐานความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางทหาร ดังเช่นเยอรมนีที่ได้รับการปกป้องในด้านการป้องกันประเทศในฐานะเป็นสมาชิกขององค์การฐานะสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และในฐานะของสมาชิกของสหภาพยุโรป ทำให้ความจำเป็นในการมีกำลังพลจำนวนมากหรือการระดมสรรพกาลังอย่างรวดเร็วลดน้อยลง (สุรชาติ วรสุทธิ์, 2563)

- การรับสมัครทหารที่มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ดังตัวอย่างของอินโดนีเซียที่ใช้เว็บไซต์ของกองทัพเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์การรับสมัครทั้งระดับสัญญาบัตร ประทวน และพลทหาร ด้วยรูปแบบเดียวกันทั้ง 3 เหล่าทัพ มีการระบุคุณสมบัติของผู้สมัครพร้อมรายละเอียดที่ชัดเจน เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรวมทั้งความเป็นเอกภาพของ 3 เหล่าทัพ ทำให้ได้กำลังพลที่ตรงตามความต้องการ ส่วนสหรัฐอเมริกาเปิดให้มีสถานีคัดเลือกทหาร 1,400 สถานีทั่วประเทศ มีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อและในสถานศึกษา และมีหน่วยบัญชาการคัดเลือกทหารกองทัพบกรับผิดชอบโดยตรง (Griffith, 1996) ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ที่มีทัศนคติที่ดีต่อกองทัพและประเทศชาติเข้าเป็นทหารในระบบทหารอาสาสมัครจะทำให้ได้กำลังพลที่มีความต้องการเข้าร่วมกองทัพอย่างแท้จริงในระยะยาว

- การสร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหารกองประจำการ โดยให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทนและความคุ้มค่าที่ผู้สมัครจะได้รับหากเข้าเป็นทหารกองประจำการ เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ สิทธิต่าง ๆ ความก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพ โอกาสทางการศึกษา การฝึกอาชีพหลังปลดประจำการ และการปรับสภาพแวดล้อมในหน่วยทหาร ที่พักและสิ่งอานวยความสะดวก รวมทั้งลดภารกิจที่ไม่จำเป็นและสิ่งที่ทหารไม่พึงพอใจ ดังที่สหรัฐอเมริกาเปิดโอกาสให้ทหารกองประจำการสามารถเลื่อนยศไปเป็นนายทหารชั้นประทวนและสัญญาบัตรได้ กำหนดให้นายทหารชั้นประทวนทุกนายต้องเติบโตมาจากการสมัครเป็นทหารกองประจำการก่อนเช่นเดียวกับกองทัพเยอรมัน และเมื่อมีคุณวุฒิและผลการดำเนินงานดีก็สามารถเลื่อนเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรได้ ส่วนกรณีของไต้หวันได้เพิ่มเงินเดือนพลทหารจาก 29,625 ดอลลาร์ไต้หวัน (970 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี ค.ศ. 2013 เป็น 34,340 ดอลลาร์ไต้หวัน (1,125 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี ค.ศ. 2020 โดยให้เงินเดือนพลทหารสูงกว่าผู้จบระดับปริญญาตรีในวิชาชีพอื่นเพื่อคงระบบทหารอาสาสมัครไว้ ผลตอบแทนต่าง ๆ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้างด้วยข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอ (Huang, 2020)

- การสร้างความเข้าใจในระบบทหารอาสาสมัครและขอรับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เช่นในสหรัฐอเมริกามีการประกาศเพื่อสร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้บังคับหน่วยทหารเพื่อลดการต่อต้านการยกเลิกเกณฑ์ทหาร รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจากรัฐสภา นักธุรกิจ ผู้นำทางทหาร และอื่น ๆ จนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทหารอาสาสมัคร (Griffith, 1996)

- การใช้ระบบทหารอาสาสมัครโดยมีความพร้อมในการเรียกเกณฑ์ทหารเมื่อมีภาวะฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่นหน่วย Selective Service System Agency ของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ลงทะเบียนชายอายุ 18 – 26 ปี เพื่อพร้อม14

ดำเนินการในกรณีมีการเกณฑ์ทหารตามกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ ทำให้มีสามารถเรียกเกณฑ์ทหารในยามฉุกเฉินได้ แต่กรณีของไต้หวันที่ยังมีภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ การใช้ระบบทหารอาสาสมัครอาจทำให้ไต้หวันมีความยากลำบากมากขึ้นในการระดมสรรพกำลังเพื่อการป้องกันประเทศ แม้จะยังมีการเกณฑ์เพื่อการฝึกวิชาทหารเป็นเวลา 4 เดือน แต่ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า เนื่องจากผู้รับการฝึกไม่มีความชำนาญและเสียเวลาในการประกอบอาชีพหรือการศึกษา (Congressional Research Service, 2020)

สรุปและข้อเสนอแนะ

ทหารกองประจำการเป็นกำลังพลที่มีจำนวนมากในกองทัพและเป็นกำลังพลกลุ่มหลักในบางประเทศ การได้มาซึ่งทหารกองประจำการมีวิธีการคัดเลือกทหารหลัก ๆ อยู่ 2 รูปแบบคือ วิธีการเกณฑ์ทหารและวิธีการรับสมัคร การเกณฑ์ทหารที่ใช้กันมานานทั่วโลกเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการสงบลงของภัยคุกคามทางทหารในช่วงหลังยุคสงครามเย็น ทำให้ประเทศจำนวนมากเปลี่ยนไปสู่ระบบทหารอาสาสมัครกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม บางประเทศได้หันกลับมาใช้การเกณฑ์ทหารอีกครั้งแม้ว่าจะยกเลิกไปแล้ว ส่วนบางประเทศเห็นความสำคัญและยังมีกฎหมายการเกณฑ์ทหารอยู่อย่างต่อเนื่อง และบางประเทศอาศัยการเกณฑ์ทหารเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ สำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายทำให้ระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมต้องถูกทบทวนและปฏิรูปกันใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน บทเรียนที่ได้จากกรณีศึกษาระบบการคัดเลือกทหารกองประจำการในต่างประเทศสรุปได้ว่า นโยบายการคัดเลือกทหารกองประจำการของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันเนื่องจากมีปัจจัยและบริบทที่ต่างกัน การคัดเลือกทหารกองประจำการด้วยวิธีการเกณฑ์และวิธีการรับสมัครมีทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อนหลายประการที่น่าสนใจและจำเป็นต้องเรียนรู้ สำหรับประเทศไทย หากจะปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกทหารกองประจำการจากระบบการเกณฑ์ไปสู่ระบบอาสาสมัครอย่างเต็มรูปแบบนั้น กองทัพจะต้องแข่งขันอย่างเข้มข้นกับตลาดแรงงานอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนวัยแรงงานสนใจเข้าร่วมปฏิบัติงานเป็นทหารกองประจำการ การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอทั้งด้าน Recruitment, Retention และ Retirement ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างกำลังพลทหารในรูปแบบอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ การเพิ่มเงินเดือน การให้สิทธิและสวัสดิการที่เพียงพอ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษานอกเหนือจากการฝึกและการส่งเสริมอาชีพหลังปลดประจำการ ซึ่งจะต้องมีงบประมาณอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องทำแผนพัฒนาระบบดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับประเด็นนโยบายสาธารณะอื่น ๆ ที่สำคัญของประเทศด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • กองสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน. (2564). ข้อมูลการตรวจเลือกทหารกองประจำการระหว่างปี 2562 – 2564. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
  • กรมข่าวทหารบก. (2555). ทาเนียบกาลังรบประเทศอินโดนีเซีย. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
  • กรมข่าวทหารบก. (2562). ข้อมูลการเกณฑ์ทหารของสาธารณรัฐสิงคโปร์และสาธารณรัฐเกาหลี. เอกสารไม่ตีพิมพ์.
  • ซเวีย วายเวีย. (2017). พัฒนาการและข้อถกเถียงว่าด้วยการเกณฑ์ทหารในเยอรมนี. (ต่อศักดิ์ จินดาสุศรี, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธีฟรีดริค เอแบร์ท.
  • ธนัย เกตวงกต. (2560). ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย. สืบค้นจาก https://library.fes. de/pdf-files/bueros/thailand/14043.pdf
  • สุรชาติ วรสุทธิ์, พันเอก. (2563). ระบบการเกณฑ์/รับสมัครทหารและระบบกาลังสารองของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี.
  • Amit, H. (2563). The Israeli Army’s big windfall – massive cuts in reserve duty. Retrived from: https:// www.haaretz.com/israel-news/business/.premium-the-army-s-big-windfall-massive-cuts-in-reserve-duty-1.6601182. 29 October 2018
  • Antonis A. (2012). Military conscription as a means of stabilizing democratic regimes. Public Choice, 150, 3/4: 715-730.
  • Beritasatu. (2020). Indonesian military to recruit 25,000 young people for reserve force. Retrived from: https://jakartaglobe.id/news/indonesian-military-to-recruit-25000-young-people-for-reserve-force/
  • Brock H. (2018). The return of conscription? Retrived from: https://wri-irg.org/en/story/2018/return-conscription
  • Boene, B. (2009). Shifting to all-volunteer armed forces in Europe: why, how, with what effect? Retrived from: http://journals.openedition.org/sociologico/347

  • Congressional Research Service. (2020). The selective service system and draft registration: Issues for Congress. CRS Report Prepared for Members and Committees of Congress.

  • Daniel, J. K. (2014). Why conscription, Singapore? The social and geostrategic considerations (Thesis). Retrieved from: https://apps.dtic.mil/dtic/tr/fulltext/u2/a607766.pdf
  • Desilver, D. (2019). Fewer Than a Third of Countries Currently Have a Military Draft; Most Exclude Women. Retrieved from: https://www.pewresearch.org/fact-tank/2019/04/23/fewer-than-a-third-of-countries-currently-have-a-military-draft-most-exclude-women/
  • Eiland, G. (2016). The fundamental concept of human resources in the structure of the IDF. Military service in Isarael: challenges and ramifications. Memorandum No.159. The Institute for National Security Studies.
  • Ferry, T. (2019). The challenge of doing without conscription. Retrieved from: https://topics. amcham.com.tw/2019/11/TAIWAN-MILITARY-CHALLENGE-WITHOUT-CONSCRIPTION/
  • Fulbright, A. (2020). IDF cuts mandatory military service for men to 2.5 year. Retrieved from: https://www.timesofisrael.com/idf-cuts-mandatory-military-service-for-men-to-2-5-years/. 1 July 2020
  • Global Firepower. (2021). 2021 Military Strength Ranking.Retrieved from: https://www.globalfirepower. com/countries-listing.php 
  • Global Security Organization. (2020). Military personnel. Retrieved from: https://www.globalsecurity.org /military/ world/taiwan/personnel.htm
  • Grififth, R. K. (1997). The U.S. Army’s transition to the all-volunteer force 1968-1974. Washington, D.C.: Center of Military History, United States Army.
  • Hall C. J. (2011). The worldwide decline in conscription: a victory for economics? Retrieved from: https://www.econlib.org/library/Columns/y2011/Hallconscription.html
  • Huang, P. (2020). Taiwan’s military is a hollow shell. Retrieved from: https://foreignpolicy.com/2020/ 02/15/CHINA-THREAT-INVASION-CONSCRIPTION-TAIWANS-MILITARY-IS-A-HOLLOW-SHELL/
  • Israel Defense Force. (2017). From civilian to soldier: the combat training process. Retrieved from: https://www.idf.il/en/minisites/our-soldiers/from-civilian-to-soldier-the-combat-training
  • Kim, F. (2018). South Korea military enhances roles of reservists. Retrieved from: https://ipdefense forum.com/2018/05/south-korea-military-enhances-role-of-reservists/
  • Yuan L. C. (2017). Recruitment and retention in Taiwan’s new all-volunteer force. Retrieved from: http://www.resmilitaris.net/ressources/10264/79/res_militaris_article_yuan_recruitment_and_retention_in_the_taiwanese_new_all-volunteer_force.pdf
  • Molter, V. (2019). Taiwan’s all-volunteer force transition still a challenge. Retrieved from: https://the diplomat.com/2019/08/taiwans-all-volunteer-force-transition-still-a-challenge/
  • Poutvaara, P. & Wagener, A. (2009). The political economy of conscription. Public Choice. Retrieved from: https://www.researchgate.net/publication/46464005_The_Political_Economy_of_ Conscription
  • Radio Taiwan International. (2019). Defense Ministry: Volunteer army at 84% of recruitment goal. Retrieved from: https://en.rti.org.tw/news/view/id/2001444
  • Ronge J. & Abrate G. (2019). Conscription in the European Union Armed Forces: national trends, benefits and EU modernised service. Finabel European Army Interoperability Center.
  • South, T. (2017). All-volunteer force can’t meet Pentagon’s future needs. Retrieved from: https://www.militarytimes.com/news/your-army/2021/04/05/all-volunteer-force-cant-meet-pentagons-future-needs-advocates-warn/
  • Tresch, T. S. (2010). The transformation of Switzerland’s militia armed forces and the role of the citizen in uniform. Armed Forces & Society Quarterly. Retrieved from: http://afs.sagepub. com/content/37/2/239
  • Tso, Natalie. (2019). Defense Ministry: volunteer army at 84% of recruitment goal. Retrieved from: https://en.rti.org.tw/news/view/id/2001444
  • War Resisters’ International. (2009). Switzerland. Retrieved from: https://wri-irg.org/en/programmes/ world_survey/reports/Switzerland
  • World Population Review. (2021). Countries with mandatory military service 2021. Retrieved from: https://worldpopulationreview.com/country-rankings/countries-with-mandatory-military-service