วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

ทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2564-2573

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (5 ธ.ค.2560) องค์การสหประชาชาติได้เตรียมประกาศให้ปี พ.ศ.2564-2573 เป็น "ทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" (The United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development) เพื่อให้มีแรงผลักดันและกรอบการทำงานร่วมกันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุก ๆ ประเทศ มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์มหาสุมทร อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อคืนสุขภาพให้มหาสมุทร โดยตั้งผลลัพธ์การพัฒนาไว้เจ็ดประการหลังสิ้น พ.ศ. 2573


ทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ (พ.ศ.2564) ถือจะเป็นโอกาสสำคัญ "ครั้งหนึ่งในชีวิต" ที่ประเทศต่าง ๆ จะได้ทำงานร่วมกันโดยใช้วิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับโลก ในการพัฒนามหาสมุทรของพวกเราให้ยั่งยืน



คณะกรรมการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลนานาชาติ (The intergovernmental Oceanographic Commission : IOC) ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และการบริการด้านมหาสมุทรทั่วโลก เพื่อช่วยผลักดันให้สมาชิก 150 ประเทศ ได้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องสุขภาพของมหาสมุทร ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์ทางทะเล การสังเกตุการณ์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยจุดเน้นหลักเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถขยายขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และศักยภาพของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของทะเล มหาสุมทร และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ในปี พ.ศ.2573

ผลลัพธ์ 7 ประการ ที่ต้องการในโครงการทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
  1. มหาสมุทรที่ใสสะอาด โดยมีการระบุแหล่งที่มาและการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษ สารมลพิษจะถูกกำจัดออกไปจากมหาสมุทร
  2. มหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและยืดหยุ่น โดยมีการทำแผนที่ระบบนิเวศทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลต้องได้รับการปกป้อง
  3. มหาสมุทรในอนาคต โดยสังคมสามารถเข้าใจสภาพมหาสมุทรในปัจจุบัน และมหาสมุทรที่ต้องการในอนาคต สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและผลที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้
  4. มหาสมุทรที่ปลอดภัย โดยมนุษย์ได้รับการปกป้องจากภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากมหาสมุทร และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในทะเลและชายฝั่ง
  5. มหาสมุทรที่มีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น
  6. มหาสมุทรที่มนุษย์สามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการตัดสินใจของมนุษย์
  7. มหาสมุทรเป็นแหล่งที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีส่วนร่วมของสังคมที่จะหันมาตระหนักถึงคุณค่าของมหาสมุทร

"ความท้าทายของการจัดการกับมหาสมุทรอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ต้องใช้ขีดความสามารถ ศักยภาพและความรู้ของพวกเราที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ พวกเราได้ร่วมกันนำเสนอกรอบแห่งความร่วมมือและการประสานงานซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุความต้องการในอนาคตของเรา"
คำกล่าวของ Ariel Troisi ประธาน IOC



ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิก UN ประกอบกับประเทศไทยมีท้องทะเลที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำและสัตว์น้ำที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีแหล่งพลังงานในทะเล มีแหล่งดำน้ำลึกที่ติดอันดับโลก ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมโยงกับมหาสุมทรแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดีย

ดังนั้น รัฐบาลไทยคงต้องเริ่ม Click Start ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเจ้าภาพหลักคงหนีไม่พ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลในประเทศไทย เป็นหน่วยงานสนับสนุน

และขอเชิญคนรักษ์ทะเลทุกคน เข้าร่วมโครงการนี้โดยพร้อมเพรียงกัน

**********************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์ : 4 มี.ค.2564

ที่มาข้อมูล
  • UNESCO. (2564). United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021-2030). [Online]. Available: https://en.unesco.org/ocean-decade. [2564 มีนาคม 3]
  • IOC. (2562). United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021-2030). [Online]. Available: https://www.oceandecade.org/. [2564 มีนาคม 3]

ไม่มีความคิดเห็น: