วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

พิธีเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการฯ สวพม.

 




เมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค. ๖๕ พล.ต. ธิติพันธ์ ฐานะจาโร ผอ.ศพย.ยศ.ทบ./เลขาธิการ สวพม. เป็นประธานในพิธีการเปิด

สัมมนาเชิงวิชาการฯ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ณ โรงแรม ริเวอร์ตัน อัมพวา จว.ส.ค.    




วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ยุทธภัณฑ์ที่ผ่านสมรภูมิการรบ

 

ธงจุฑาธุชธิปไตย

 





ประวัติความเป็นมา 
     ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ฮ่อธงเหลืองยกกองทัพไปตีเมืองในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก เจ้านครหลวงพระบาง
ส่งใบบอกถึงเมืองพิชัย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้เกณฑ์กำลังมณฑลพิษณุโลกเข้ากองทัพให้ พระยาพิชัย (มิ่ง ศรีพิชัย) กับ พระยาสุโขทัย (ครุฑ หงสนันทน์) คุมขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบางก่อนแล้วให้ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) ตามขึ้นไปเป็นแม่ทัพใหญ่ปราบฮ่อ

    เมื่อกองทัพสยามยกขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง พวกฮ่อทราบความต่างพากันถอยหนีจากแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกกลับไปยังค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) ยกทัพติดตามไปจนถึงทุ่งเชียงคำ แต่ตีค่ายไม่แตก กองทัพสยามล้อมอยู่ ๒ เดือน ประสบปัญหาผู้คนเกิดป่วยเจ็บด้วยขัดสนเสบียงอาหารส่งไปไม่ทัน พระยาราชวรานุกูล จึงต้องเลิกทัพกลับมาทางเมืองหนองคาย

    เมื่อได้ข่าวมาถึงกรุงเทพฯ ว่ากองทัพสยามตีค่ายที่ทุ่งเชียงคำไม่สำเร็จ และยังได้รับใบบอกเมืองหลวงพระบางว่ามีทัพฮ่อยกมาตีเมืองหัวพันห้าทั้งหกอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่ากองทัพพระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) คงกระทำการไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทหารในกรุงเทพฯ ๒ ทัพ นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระราชวัง เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายใต้ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองพวน และ นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารหน้า เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายเหนือ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงจุฑาธุชธิปไตยแก่ นายพันเอก
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) เพื่อเป็นสิ่งแทนพระองค์ในกองทัพที่ยกไปปราบฮ่อ

ความสำคัญ
    ธงจุฑาธุชธิปไตยเป็นธงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่กองทัพของ
นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เพื่อใช้นำทัพในการปราบฮ่อ ซึ่งก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นสิบสองพันนา โดยกองทัพไทยถือว่าธงนี้เป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพธงแรกของไทย

สถานที่จัดเก็บ
    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร




ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารบกรถยนต์



                             

ประวัติความเป็นมา

    ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมออกประกาศรับสมัคร และคัดเลือกชายฉกรรจ์จำนวนกว่าพันคนจัดเป็นกองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบก พร้อมทั้งหมวดพยาบาล ไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑

    กองทหารบกรถยนต์ในบังคับ นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์นั้น เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการฝึกหัดขับรถยนต์ การบำรุงรักษารถยนต์ รวมทั้งการฝึกวิชาทหารราบ และการใช้อาวุธปืน

    เมื่อกองทหารบกรถยนต์เสร็จการฝึกหัดแล้ว ได้เข้าสู่สมรภูมิ และแสดงความกล้าหาญให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายทหารฝรั่งเศส จนสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จหลายครั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบเหรียญกล้าหาญชื่อ “ครัวซ์ เดอ แกรร์” (Croix de Guerre) ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองทัพสยาม และเมื่อกองทหารบกรถยนต์เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์ พร้อมกับมีพระราชกระแส ความตอนหนึ่งในหนังสือประวัติกองทหารอาสา ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเลพระพุทธศักราช ๒๔๖๐ - ๖๑ - ๖๒  
    “การที่ธงของกองเจ้าได้รับตราต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นพยานอยู่ในตัวแล้วว่านานาประเทศ
รู้สึกว่าทหารไทยทำการกล้าหาญน่าชมเชย ครั้นจะให้ตราทั้งหมดทุกคนก็เป็นการมากมายไม่ไหวอยู่เอง
ส่วนตัวข้าเองข้าได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะต้องสแดงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เจ้าทั้งหลายแลเห็นชัดว่า ข้าปลื้มปานใดในการที่พวกเจ้าได้ไปหาชื่อให้แก่ชาติไทยในครั้งนี้ ครั้นว่าข้าจะแจกตราให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน ก็จะเป็นการมากมายนัก ข้าจึงได้คิดว่าจะให้ตราแก่ธงประจำกองของเจ้า ขอให้เจ้าถือว่าที่ข้าให้ตราแก่ธงนี้ เท่ากับให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน  เพราะธงเป็นเครื่องหมายสำหรับกอง เพราะฉะนั้นเมื่อธงได้รับตราไปแล้ว ขอเจ้าจงรู้สึกว่าทุก ๆ คนได้รับตรา และทุก ๆ คนต้องตั้งใจรักษาเกียรติยศให้สมแก่เป็นผู้ได้รับตรารามาธิบดีอันมีศักดิ์ ช่วยกันรักษาศักดิ์นี้ไว้ เพราะศักดิ์อันนี้ไม่ใช่ของเจ้าโดยเฉพาะตัว นับว่าเป็นศักดิ์ของกองทหาร และเป็นศักดิ์ของตัวข้าผู้เป็นประมุขแห่งเจ้าทั้งหลายด้วย”

ความสำคัญ

    เป็นธงซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารในสงครามโลกครั้งที่ ๑

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร




หมวกเหล็กของพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล)





ประวัติความเป็นมา

    ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยในเช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหารไทยนำโดย นายพลตรี หลวงเสนาณรงค์ (ศักดิ์ เสนาณรงค์) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ หรือ ค่ายวชิราวุธ ในปัจจุบัน และนายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ร่วมกับทหารในสังกัด ทำการรบต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นบริเวณบ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

    การรบครั้งนี้ นายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ถูกยิงเข้าที่ศีรษะจนหมวกเหล็ก
เป็นรูกระสุน แต่ตัวท่านกลับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บทความเรื่อง บุกปักษ์ใต้ ในหนังสืออนุสรณ์
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก อมร อมรเสนีย์ บรรยายเหตุการณ์นี้ไว้ ดังนี้

    “…กระสุนญี่ปุ่นแหวกว่ายอากาศ แข่งกับการกระหน่ำของสายฝน อย่างไม่ยอมแพ้กันข้างใดข้างหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ ‘ป๋ง’ ป๋งหนึ่งใกล้ชิดเหลือเกิน เราชะแง้ดู เห็นโลหิตไหลรินจากศีรษะของนายทหารคนหนึ่ง เขม่นดู จำไม่ถนัดนักมืดมัวเหลือทน ต่อเขาวิ่งผ่านมาใกล้จึงเห็นหลวงประหารฯ ถอดหมวกเหล็กจากศีรษะ ทะลุเข้าหมวกแล้วแฉลบเข้าข้างศีรษะแทนที่จะได้เห็นสีหน้าเขาซีดสลดอย่างคนถูกปืนทั้งหลาย เปล่า!  หลวงประหารฯ กลับหัวเราะชอบใจ สวมหมวกอย่างเก่าแล้วก็ทำหน้าที่สั่งยิงต่อไป…”

    เช้าวันนั้น ทหารไทยได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเสียสละ และไม่เกรงกลัวข้าศึก ปฏิบัติการรบใช้เวลา
นานกว่า ๓ ชั่วโมง ฝ่ายไทยจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ให้ยุติการรบ และเปิดทางให้กำลังทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านไปได้ การรบในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต ๓๙ นาย และบาดเจ็บกว่า ๑๐๐ นาย ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นสูญเสียทหารจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ความสำคัญ

    เป็นหมวกเหล็ก Adrian รุ่น Model 31 สีกากีแกมเขียว ซึ่ง นายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ใช้ในการรบต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร


เสื้อเกราะกันกระสุนของ พ.อ. ทวี พลอยเลื่อมแสง


                                


ประวัติความเป็นมา

    พันเอก ทวี พลอยเลื่อมแสง มอบให้พิพิธภัณฑ์ทหารม้า จำนวน ๑ ตัว เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ความสำคัญ

    ใช้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุนพร้อมเป็นเสื้อกันหนาว ใช้ในสงครามเวียดนาม ปี พ.ศ. ๒๕๑๔

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์ทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี




ปลย.M 16 หมายเลข ๙๓๖๘๗๐๖





ประวัติความเป็นมา

    เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตรี ธวัช สุกปลั่ง (ยศในขณะนั้น) ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นายทหารเสริมกำลังพิเศษถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

    ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้เข้าร่วมการทดสอบยิงปืนฉับพลันถวายการทอดพระเนตรแก่ทั้งสองพระองค์ ณ สนามยิงปืนตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ขณะทำการยิงอาวุธปืนของ ร้อยตรี ธวัชฯ ได้เกิดการติดขัดหลายครั้ง เนื่องจากอาวุธของหน่วยได้ผ่านการใช้งานมานานในสงครามเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรอาการติดขัด ปลย.M 16 กระบอกนี้ทรงถอดประกอบและทอดพระเนตรเห็นความผิดปกติของหน้าลูกเลื่อนที่มีเขม่ามากผิดปกติ ทรงพระราชทานคำสอนแล้วรับสั่งให้ ร้อยตรี ธวัชฯ ประกอบอาวุธทำการยิงต่อไป แต่ก็ยังคงมีอาการติดขัด

    พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งต่อสมุหราชองครักษ์
ให้นำอาวุธปืนที่พระตำหนักจิตรลดาฯ มามอบให้ ร้อยตรี ธวัชฯ ขณะนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งติดตามเสด็จฯ ไปด้วย ได้กราบบังคมทูลว่า กองทัพบกขอนำ ปลย.M 16 มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในตอนเย็นวันนั้น พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้มอบ ปลย. M 16 ให้แก่ ร้อยตรี ธวัชฯ ไว้เป็นอาวุธประจำกายในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

    เย็นวันนั้น ร้อยโท บุญสืบ คชรัตน์ นายทหารติดตามผู้บัญชาการทหารบก ได้นำ ปลย.M 16 หมายเลข ๙๓๖๘๗๐๖ มามอบแก่ ร้อยตรี ธวัชฯ แล้วรับอาวุธปืนกระบอกเก่า ซึ่งเป็นของหน่วยกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๓ กลับไป เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป

    พลเอก ธวัช สุกปลั่ง ได้เก็บรักษา และใช้งาน ปลย.M 16 กระบอกนี้มาตลอดการออกปฏิบัติราชการสนาม จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้นำไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีด้วย เมื่อท่านจะพ้นจากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงมอบ ปลย.M 16 กระบอกนี้ไว้กับพิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ ๒ เก็บรักษาไว้ต่อไป

ความสำคัญ

    เป็นยุทธภัณฑ์ที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ พลเอก ธวัช สุกปลั่ง และได้ใช้ในราชการสนามหลายครั้ง

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา


หมวกเหล็กของร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย

                             
                              
                                                  



ประวัติความเป็นมา

    กรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ ๓๑๘๒ ฐานฯ ละมาด และกำลังพลในฐานฯ ได้ถูกกองกำลังทหารสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าโจมตีฐานฯ และระดมยิงด้วยอาวุธยิงสนับสนุน อย่างหนัก ร้อยเอก สุรพลฯ ได้ยิงโต้ตอบเพื่อยึดรักษาฐานฯ ละมาด ไว้อย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากกำลังฝ่ายตรงข้ามเข้าโจมตีอย่างหนัก และมีกำลังมากกว่าหลายเท่าจนกระทั่งสถานการณ์คับขัน เห็นว่าไม่สามารถรักษาฐานไว้ได้ด้วยความกล้าหาญ ร้อยเอก สุรพลฯ และกำลังพลฐานฯ ละมาด จึงร้องขอการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ โดยใช้กระสุนแตกอากาศเหนือฐานฯ เพื่อต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับความสูญเสียอย่างหนัก แม้จะรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นอันตราย ถึงชีวิตของตนเอง ก็ตามจนในที่สุด ร้อยเอก สุรพลฯ ซึ่งกำลังอำนวยการยิงอยู่ ในขณะนั้นได้ถูกสะเก็ดปืนใหญ่ที่ศีรษะเสียชีวิตในสนามรบ

ความสำคัญ

    เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของหน่วย ซึ่ง ร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ ๓๑๘๒ ฐานฯ ละมาด ได้สวมใส่ ทำการรบจนกระทั่งเสียชีวิตในกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑

สถานที่จัดเก็บ

    ห้องประวัติศาสตร์กองพันทหารม้าที่ ๑๘ กรมทหารม้าที่ ๓ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์



เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘ (F - 5)

                                                                                
                 


ประวัติความเป็นมา

    เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙ นาวาอากาศตรี พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ ได้นำ บข.๑๘ (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘) ออกโจมตีทางอากาศในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงต่อสู้ทำให้เครื่องตกบริเวณเขาปู่บริเวณพิกัด QU406402 จังหวัดเพชรบูรณ์ ในยุทธการร่วมใจ ๑๐ และได้สูญหายไป

ความสำคัญ

    นาวาอากาศตรี พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ และ บข.๑๘ (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘) เป็นบุคคล และยุทโธปกรณ์ทางประวัติศาสตร์ในการสนับสนุนการรบในสมรภูมิเขาค้อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์อาวุธและการสู้รบ (ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ) ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์




รวบรวมโดย กองประวัติศาสตร์ ยก.ทบ.
อัพเดต  พ.ค.64