วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

คณะวิจัยรูปแบบ XYZ

สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (SSDRI) มุ่งเน้นทำงานวิจัยเกี่ยวกับด้านความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ ในการทำวิจัยในแต่ละเรื่อง ทางสถาบัน SSDRI ได้กำหนดโครงสร้างของคณะวิจัยในรูปแบบ XYZ โดยสามารถอธิบายรายละเอียดได้ ดังนี้

คำนิยาม 
X หมายถึง ข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ภายในกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยเรื่องนั้น ๆ 
Y หมายถึง ข้าราชการทหารที่เกษียณไปแล้ว แต่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ในเรื่องการวิจัยนั้น ๆ
Z หมายถึง นักวิชาการ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกกองทัพ ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องนั้น ๆ เช่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการอิสระ เป็นต้น  


เงื่อนไข
  1. งานวิจัยที่ขอรับทุนอุดหนุนจากสถาบัน SSDRI  คณะวิจัยและที่ปรึกษาโครงการวิจัยนั้น ๆ จะต้องประกอบไปด้วย บุคคลทั้ง 3 ประเภท (X+Y+Z)
  2. หัวหน้าโครงการวิจัยที่รับผิดชอบ จะต้องเป็นบุคคลประเภท X เท่านั้น
  3. หากหัวหน้าโครงการวิจัย (X) จะดำเนินการวิจัยในนามหน่วยเพื่อเป็นผลงานของหน่วย ให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วยนั้น ๆ เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย 
  4. บุคคล ทั้ง X,Y และ Z อาจเป็น นักวิจัยร่วม หรือเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย ก็ได้ 
  5. งานวิจัยของสถาบัน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ขอรับทุนจากสถาบัน SSDRI ไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้

ภาพบนเป็นตัวอย่างงานวิจัย เรื่อง "แนวทางการปฏิรูปการรับราชการทหาร (การเกณฑ์ทหาร) ของไทยในศตวรรรษที่ 21"  ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบัน SSDRI ดำเนินการวิจัยโดย วิทยาลัยการทัพบก ซึ่งเป็นไปตามคณะวิจัยรูปแบบ XYZ ดังนี้
  • พันเอก หญิง ดร.ธนิตา  วงษ์จินดา อาจารย์วิทยาลัยการทัพบก เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย (X)
  • คณะวิจัย ประกอบด้วย บุคคลประเภท  X, Y และ Z
  • คณะที่ปรึกษาโครงการวิจัย ประกอบด้วยบุคคล X และ Z
  • พลตรี มหศักดิ์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย 
เหตุผลที่กำหนดคณะวิจัยในรูปแบบ XYZ
  1. เพื่อเป็นการส่งเสริมนักวิจัยของกองทัพ (X)
  2. เพื่อเป็นการนำความรู้ของอดีตกำลังพลในกองทัพที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ ในด้านนั้น ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ (Y)
  3. เพื่อเป็นการนำความรู้ใหม่ ๆ จากแวดวงวิชาการภายนอกมาช่วยในงานวิจัย มีระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นมาตรฐาน และผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน  รวมถึงช่วยสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพและหน่วยงานภายนอก (Z)
อย่างไรก็ตาม แนวคิดคณะวิจัยรูปแบบ XYZ นี้ อาจมีการอนุโลมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ตามบริบทและขอบเขตของการวิจัย หรือแนวนโยบายในขณะนั้น ๆ  หากเป็นการวิจัยภายในกองทัพเพื่อใช้ประโยชน์ภายในกองทัพเอง รูปแบบคณะวิจัยอาจเป็นบุคคลประเภท X เท่านั้นก็ได้  ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง "แนวทางการนำองค์ความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพกองทัพ" ทั้งคณะผู้วิจัย และที่ปรึกษาโครงการวิจัย  เป็นบุคคลประเภท X ทั้งหมด เป็นต้น

ตัวอย่างงานวิจัยที่คณะวิจัยและที่ปรึกษา เป็นุคคลกลุ่ม X ทั้งหมด

รายละเอียดเพิ่มเติม ทางสถาบัน SSDRI จะแจ้งให้ทราบใน ประกาศรับข้อเสนอทุนอุดหนุนการวิจัยด้านความมั่นคงของประเทศ  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป

*******************


วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2564

แนวทางของ SSDRI ในการส่งเสริมนักวิจัยของกองทัพ

กองทัพบกได้จัดตั้ง สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง : สวพม. (Security Strategy Development and Research Institute : SSDRI) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 โดยมุ่งหวังให้เป็นสถาบันคลังสมองด้านความมั่นคงของชาติ มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ

SSDRI สะพานเชื่อมระหว่างความรู้กับนโยบาย

การดำเนินการของสถาบันฯ ใช้งบประมาณมาจาก 2 ส่วน คือ 1) งบประมาณของแผ่นดิน 2) งบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจาก มูลนิธิสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (SSDRI Foundation) ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งขึ้น

สถาบัน SSDRI มีเป้าหมายที่จะสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ปัจจุบันสถาบันฯ ได้พบว่า กำลังพลของกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก มีจำนวนมากถึง 197 คน เป็น ชาย 124 คน หญิง 73 คน และสามารถแยกตามระดับชั้นยศ ได้แก่ 1) ชั้นนายพล จำนวน 8 คน 2) ชั้นนายพัน 173 คน 3) ชั้นนายร้อย 13 คน และ 4) ชั้นประทวน 3 คน  ทำงานอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพบก โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย 5 อันดับแรก ดังนี้
  • ลำดับที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จำนวน 47 คน (24%)
  • ลำดับที่ 2 กรมแพทย์ทหารบก จำนวน 41 คน (21%)
  • ลำดับที่ 3 กรมยุทธศึกษาทหารบก จำนวน 13 คน (7%)
  • ลำดับที่ 4 กองทัพภาคที่ 1 จำนวน 11 คน (5%)
  • ลำดับที่ 5 กองทัพภาคที่ 2 จำนวน 9 คน (4%)


หากดูในด้านการทำงานในหน่วยงานของกองทัพบกที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย  จะพบว่ามีกำลังพลที่จบปริญญาเอก ทำงานอยู่เพียง 15 คน (7%) คือ กรมยุทธศึกษาทหารบก 7 คน วิทยาลัยการทัพบก 6 คน และ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก จำนวน 2 คน ส่วนที่เหลือ 182 คน (93%) ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่การวิจัยโดยตรง


กรอบแนวทางการวิจัยของ SSDRI  
สถาบัน SSDRI จะเป็นผู้กำหนดประเด็นการวิจัยด้านความมั่นคงที่ต้องการ โดยกำหนดมาจาก แบบสำรวจความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป ผนวกกับ การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาความมั่นคงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต   หลังจากนั้นจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการ "กำหนดหัวข้อการวิจัย"  

การกำหนดหัวข้อการวิจัยด้านความมั่นคง ได้มาจาก 2 วิธี คือ
  • วิธีที่ 1 สถาบัน SSDRI กำหนดห้วข้อการวิจัยเอง แล้วหานักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ (เน้นกำลังพลของกองทัพบกที่จบปริญญาเอก) เป็นผู้ดำเนินการวิจัย
  • วิธีที่ 2 สถาบัน SSDRI ประกาศรับข้อเสนอให้ทุนอุดหนุนการวิจัยในประเด็นการวิจัยด้านความมั่นคงที่ต้องการ โดยในขั้นต้นจะส่งประกาศไปยังหน่วยต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหม  กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักวิจัยของหน่วยงานนั้น ๆ เสนอหัวข้อการวิจัยเพื่อขอรับทุนอุดหนุนจากสถาบัน SSDRI เป็นเบื้องต้น
การอนุมัติหัวข้อการวิจัย
หลังจากได้หัวข้อการวิจัยด้านความมั่นคง ตามวิธีที่ 1 และ 2  มาแล้วสถาบัน  SSDRI จะพิจารณาหัวข้อการวิจัย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัยเป็นสำคัญ และจัดเรียงลำดับความเร่งด่วนเอาไว้ ส่วนจะอนุมัติให้ทำการวิจัยได้กี่เรื่องนั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะได้รับการสนับสนนุนจาก "มูลนิธิสถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง" เป็นสำคัญ

กรอบแนวทางการวิจัยของสถาบัน SSDRI นี้ จะเป็นการส่งเสริมให้กำลังพลของกองทัพที่จบปริญญาเอกสามารถนำความรู้ที่มีมาช่วยพัฒนาศักยภาพของกองทัพได้ โดยมีความมุ่งหมายสำคัญ คือ
  1. เพื่อการดำรงอยู่ของความรู้ของกำลังพลเหล่านั้น
  2. เพื่อพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ และต่อยอดความรู้ให้สูงยิ่งขึ้น ด้วยการทำวิจัย 
  3. เพื่อนำความรู้มาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กองทัพ
  4. มีรายได้เสริมจากค่าตอบแทนการวิจัย หรือ การทำงานด้านวิชาการ

เพื่อให้การส่งเสริมนักวิจัยของกองทัพให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันสถาบัน SSDRI กำลังดำเนินการวิจัยเรื่อง "แนวทางการนำองค์ความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพกองทัพ" เพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ
  1. เพื่อศึกษาสภาพการทำงานของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
  2. เพื่อศึกษาสถานะการนำความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมาประยุกต์ใช้ในงานที่รับผิดชอบ
  3. เพื่อเสนอแนวทางการนำองค์ความรู้ของกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพกองทัพ
คณะวิจัย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยนี้
  1. กองทัพบกได้แนวทางการนำองค์ความรู้จากกำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก มาใช้เพิ่มศักยภาพให้กองทัพบก
  2. หน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม, กองทัพเรือ , กองทัพอากาศ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดหรือทำงานวิจัย เพื่อหาแนวทางการใช้องค์ความรู้จากกำลังพลของตนเองที่มีลักษณะคล้ายกัน
  3. สถาบันการวิจัยและพัฒนายุทธศาตร์ด้านความมั่นคง ได้แนวทางในการมอบหมายงานวิจัยให้แก่กำลังพลกองทัพบกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

***********************************

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

ทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2564-2573

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (5 ธ.ค.2560) องค์การสหประชาชาติได้เตรียมประกาศให้ปี พ.ศ.2564-2573 เป็น "ทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" (The United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development) เพื่อให้มีแรงผลักดันและกรอบการทำงานร่วมกันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทุก ๆ ประเทศ มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์มหาสุมทร อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อคืนสุขภาพให้มหาสมุทร โดยตั้งผลลัพธ์การพัฒนาไว้เจ็ดประการหลังสิ้น พ.ศ. 2573


ทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ (พ.ศ.2564) ถือจะเป็นโอกาสสำคัญ "ครั้งหนึ่งในชีวิต" ที่ประเทศต่าง ๆ จะได้ทำงานร่วมกันโดยใช้วิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับโลก ในการพัฒนามหาสมุทรของพวกเราให้ยั่งยืน



คณะกรรมการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลนานาชาติ (The intergovernmental Oceanographic Commission : IOC) ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และการบริการด้านมหาสมุทรทั่วโลก เพื่อช่วยผลักดันให้สมาชิก 150 ประเทศ ได้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องสุขภาพของมหาสมุทร ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์ทางทะเล การสังเกตุการณ์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยจุดเน้นหลักเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถขยายขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และศักยภาพของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของทะเล มหาสุมทร และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ในปี พ.ศ.2573

ผลลัพธ์ 7 ประการ ที่ต้องการในโครงการทศวรรษแห่งสหประชาชาติของมหาสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
  1. มหาสมุทรที่ใสสะอาด โดยมีการระบุแหล่งที่มาและการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษ สารมลพิษจะถูกกำจัดออกไปจากมหาสมุทร
  2. มหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและยืดหยุ่น โดยมีการทำแผนที่ระบบนิเวศทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลต้องได้รับการปกป้อง
  3. มหาสมุทรในอนาคต โดยสังคมสามารถเข้าใจสภาพมหาสมุทรในปัจจุบัน และมหาสมุทรที่ต้องการในอนาคต สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและผลที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้
  4. มหาสมุทรที่ปลอดภัย โดยมนุษย์ได้รับการปกป้องจากภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากมหาสมุทร และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในทะเลและชายฝั่ง
  5. มหาสมุทรที่มีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น
  6. มหาสมุทรที่มนุษย์สามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการตัดสินใจของมนุษย์
  7. มหาสมุทรเป็นแหล่งที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีส่วนร่วมของสังคมที่จะหันมาตระหนักถึงคุณค่าของมหาสมุทร

"ความท้าทายของการจัดการกับมหาสมุทรอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ต้องใช้ขีดความสามารถ ศักยภาพและความรู้ของพวกเราที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ พวกเราได้ร่วมกันนำเสนอกรอบแห่งความร่วมมือและการประสานงานซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุความต้องการในอนาคตของเรา"
คำกล่าวของ Ariel Troisi ประธาน IOC



ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิก UN ประกอบกับประเทศไทยมีท้องทะเลที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำและสัตว์น้ำที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีแหล่งพลังงานในทะเล มีแหล่งดำน้ำลึกที่ติดอันดับโลก ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งมีอาณาเขตเชื่อมโยงกับมหาสุมทรแปซิฟิค และมหาสมุทรอินเดีย

ดังนั้น รัฐบาลไทยคงต้องเริ่ม Click Start ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเจ้าภาพหลักคงหนีไม่พ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลในประเทศไทย เป็นหน่วยงานสนับสนุน

และขอเชิญคนรักษ์ทะเลทุกคน เข้าร่วมโครงการนี้โดยพร้อมเพรียงกัน

**********************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์ : 4 มี.ค.2564

ที่มาข้อมูล
  • UNESCO. (2564). United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021-2030). [Online]. Available: https://en.unesco.org/ocean-decade. [2564 มีนาคม 3]
  • IOC. (2562). United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021-2030). [Online]. Available: https://www.oceandecade.org/. [2564 มีนาคม 3]