วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ยุทธภัณฑ์ที่ผ่านสมรภูมิการรบ

 

ธงจุฑาธุชธิปไตย

 





ประวัติความเป็นมา 
     ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ฮ่อธงเหลืองยกกองทัพไปตีเมืองในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก เจ้านครหลวงพระบาง
ส่งใบบอกถึงเมืองพิชัย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้เกณฑ์กำลังมณฑลพิษณุโลกเข้ากองทัพให้ พระยาพิชัย (มิ่ง ศรีพิชัย) กับ พระยาสุโขทัย (ครุฑ หงสนันทน์) คุมขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบางก่อนแล้วให้ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) ตามขึ้นไปเป็นแม่ทัพใหญ่ปราบฮ่อ

    เมื่อกองทัพสยามยกขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง พวกฮ่อทราบความต่างพากันถอยหนีจากแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกกลับไปยังค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำ พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) ยกทัพติดตามไปจนถึงทุ่งเชียงคำ แต่ตีค่ายไม่แตก กองทัพสยามล้อมอยู่ ๒ เดือน ประสบปัญหาผู้คนเกิดป่วยเจ็บด้วยขัดสนเสบียงอาหารส่งไปไม่ทัน พระยาราชวรานุกูล จึงต้องเลิกทัพกลับมาทางเมืองหนองคาย

    เมื่อได้ข่าวมาถึงกรุงเทพฯ ว่ากองทัพสยามตีค่ายที่ทุ่งเชียงคำไม่สำเร็จ และยังได้รับใบบอกเมืองหลวงพระบางว่ามีทัพฮ่อยกมาตีเมืองหัวพันห้าทั้งหกอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่ากองทัพพระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธ์) คงกระทำการไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทหารในกรุงเทพฯ ๒ ทัพ นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระราชวัง เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายใต้ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองพวน และ นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารหน้า เป็นแม่ทัพกองทัพฝ่ายเหนือ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงจุฑาธุชธิปไตยแก่ นายพันเอก
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) เพื่อเป็นสิ่งแทนพระองค์ในกองทัพที่ยกไปปราบฮ่อ

ความสำคัญ
    ธงจุฑาธุชธิปไตยเป็นธงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่กองทัพของ
นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง - ชูโต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เพื่อใช้นำทัพในการปราบฮ่อ ซึ่งก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นสิบสองพันนา โดยกองทัพไทยถือว่าธงนี้เป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพธงแรกของไทย

สถานที่จัดเก็บ
    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร




ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารบกรถยนต์



                             

ประวัติความเป็นมา

    ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมออกประกาศรับสมัคร และคัดเลือกชายฉกรรจ์จำนวนกว่าพันคนจัดเป็นกองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบก พร้อมทั้งหมวดพยาบาล ไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑

    กองทหารบกรถยนต์ในบังคับ นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์นั้น เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการฝึกหัดขับรถยนต์ การบำรุงรักษารถยนต์ รวมทั้งการฝึกวิชาทหารราบ และการใช้อาวุธปืน

    เมื่อกองทหารบกรถยนต์เสร็จการฝึกหัดแล้ว ได้เข้าสู่สมรภูมิ และแสดงความกล้าหาญให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายทหารฝรั่งเศส จนสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จหลายครั้ง รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบเหรียญกล้าหาญชื่อ “ครัวซ์ เดอ แกรร์” (Croix de Guerre) ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองทัพสยาม และเมื่อกองทหารบกรถยนต์เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์ พร้อมกับมีพระราชกระแส ความตอนหนึ่งในหนังสือประวัติกองทหารอาสา ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเลพระพุทธศักราช ๒๔๖๐ - ๖๑ - ๖๒  
    “การที่ธงของกองเจ้าได้รับตราต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นพยานอยู่ในตัวแล้วว่านานาประเทศ
รู้สึกว่าทหารไทยทำการกล้าหาญน่าชมเชย ครั้นจะให้ตราทั้งหมดทุกคนก็เป็นการมากมายไม่ไหวอยู่เอง
ส่วนตัวข้าเองข้าได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะต้องสแดงอย่างใดอย่างหนึ่งให้เจ้าทั้งหลายแลเห็นชัดว่า ข้าปลื้มปานใดในการที่พวกเจ้าได้ไปหาชื่อให้แก่ชาติไทยในครั้งนี้ ครั้นว่าข้าจะแจกตราให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน ก็จะเป็นการมากมายนัก ข้าจึงได้คิดว่าจะให้ตราแก่ธงประจำกองของเจ้า ขอให้เจ้าถือว่าที่ข้าให้ตราแก่ธงนี้ เท่ากับให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคน  เพราะธงเป็นเครื่องหมายสำหรับกอง เพราะฉะนั้นเมื่อธงได้รับตราไปแล้ว ขอเจ้าจงรู้สึกว่าทุก ๆ คนได้รับตรา และทุก ๆ คนต้องตั้งใจรักษาเกียรติยศให้สมแก่เป็นผู้ได้รับตรารามาธิบดีอันมีศักดิ์ ช่วยกันรักษาศักดิ์นี้ไว้ เพราะศักดิ์อันนี้ไม่ใช่ของเจ้าโดยเฉพาะตัว นับว่าเป็นศักดิ์ของกองทหาร และเป็นศักดิ์ของตัวข้าผู้เป็นประมุขแห่งเจ้าทั้งหลายด้วย”

ความสำคัญ

    เป็นธงซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารในสงครามโลกครั้งที่ ๑

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร




หมวกเหล็กของพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล)





ประวัติความเป็นมา

    ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยในเช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหารไทยนำโดย นายพลตรี หลวงเสนาณรงค์ (ศักดิ์ เสนาณรงค์) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ หรือ ค่ายวชิราวุธ ในปัจจุบัน และนายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ร่วมกับทหารในสังกัด ทำการรบต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นบริเวณบ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

    การรบครั้งนี้ นายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ถูกยิงเข้าที่ศีรษะจนหมวกเหล็ก
เป็นรูกระสุน แต่ตัวท่านกลับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บทความเรื่อง บุกปักษ์ใต้ ในหนังสืออนุสรณ์
เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก อมร อมรเสนีย์ บรรยายเหตุการณ์นี้ไว้ ดังนี้

    “…กระสุนญี่ปุ่นแหวกว่ายอากาศ แข่งกับการกระหน่ำของสายฝน อย่างไม่ยอมแพ้กันข้างใดข้างหนึ่งเหมือนกัน แล้วก็ ‘ป๋ง’ ป๋งหนึ่งใกล้ชิดเหลือเกิน เราชะแง้ดู เห็นโลหิตไหลรินจากศีรษะของนายทหารคนหนึ่ง เขม่นดู จำไม่ถนัดนักมืดมัวเหลือทน ต่อเขาวิ่งผ่านมาใกล้จึงเห็นหลวงประหารฯ ถอดหมวกเหล็กจากศีรษะ ทะลุเข้าหมวกแล้วแฉลบเข้าข้างศีรษะแทนที่จะได้เห็นสีหน้าเขาซีดสลดอย่างคนถูกปืนทั้งหลาย เปล่า!  หลวงประหารฯ กลับหัวเราะชอบใจ สวมหมวกอย่างเก่าแล้วก็ทำหน้าที่สั่งยิงต่อไป…”

    เช้าวันนั้น ทหารไทยได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญเสียสละ และไม่เกรงกลัวข้าศึก ปฏิบัติการรบใช้เวลา
นานกว่า ๓ ชั่วโมง ฝ่ายไทยจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ให้ยุติการรบ และเปิดทางให้กำลังทหารญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านไปได้ การรบในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต ๓๙ นาย และบาดเจ็บกว่า ๑๐๐ นาย ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นสูญเสียทหารจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ความสำคัญ

    เป็นหมวกเหล็ก Adrian รุ่น Model 31 สีกากีแกมเขียว ซึ่ง นายพันโท หลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ใช้ในการรบต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ภายในกองบัญชาการกองทัพบก กรุงเทพมหานคร


เสื้อเกราะกันกระสุนของ พ.อ. ทวี พลอยเลื่อมแสง


                                


ประวัติความเป็นมา

    พันเอก ทวี พลอยเลื่อมแสง มอบให้พิพิธภัณฑ์ทหารม้า จำนวน ๑ ตัว เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ความสำคัญ

    ใช้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุนพร้อมเป็นเสื้อกันหนาว ใช้ในสงครามเวียดนาม ปี พ.ศ. ๒๕๑๔

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์ทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี




ปลย.M 16 หมายเลข ๙๓๖๘๗๐๖





ประวัติความเป็นมา

    เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ร้อยตรี ธวัช สุกปลั่ง (ยศในขณะนั้น) ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นายทหารเสริมกำลังพิเศษถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

    ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้เข้าร่วมการทดสอบยิงปืนฉับพลันถวายการทอดพระเนตรแก่ทั้งสองพระองค์ ณ สนามยิงปืนตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ขณะทำการยิงอาวุธปืนของ ร้อยตรี ธวัชฯ ได้เกิดการติดขัดหลายครั้ง เนื่องจากอาวุธของหน่วยได้ผ่านการใช้งานมานานในสงครามเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรอาการติดขัด ปลย.M 16 กระบอกนี้ทรงถอดประกอบและทอดพระเนตรเห็นความผิดปกติของหน้าลูกเลื่อนที่มีเขม่ามากผิดปกติ ทรงพระราชทานคำสอนแล้วรับสั่งให้ ร้อยตรี ธวัชฯ ประกอบอาวุธทำการยิงต่อไป แต่ก็ยังคงมีอาการติดขัด

    พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งต่อสมุหราชองครักษ์
ให้นำอาวุธปืนที่พระตำหนักจิตรลดาฯ มามอบให้ ร้อยตรี ธวัชฯ ขณะนั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งติดตามเสด็จฯ ไปด้วย ได้กราบบังคมทูลว่า กองทัพบกขอนำ ปลย.M 16 มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในตอนเย็นวันนั้น พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้มอบ ปลย. M 16 ให้แก่ ร้อยตรี ธวัชฯ ไว้เป็นอาวุธประจำกายในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

    เย็นวันนั้น ร้อยโท บุญสืบ คชรัตน์ นายทหารติดตามผู้บัญชาการทหารบก ได้นำ ปลย.M 16 หมายเลข ๙๓๖๘๗๐๖ มามอบแก่ ร้อยตรี ธวัชฯ แล้วรับอาวุธปืนกระบอกเก่า ซึ่งเป็นของหน่วยกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๓ กลับไป เพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไป

    พลเอก ธวัช สุกปลั่ง ได้เก็บรักษา และใช้งาน ปลย.M 16 กระบอกนี้มาตลอดการออกปฏิบัติราชการสนาม จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้นำไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีด้วย เมื่อท่านจะพ้นจากตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงมอบ ปลย.M 16 กระบอกนี้ไว้กับพิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ ๒ เก็บรักษาไว้ต่อไป

ความสำคัญ

    เป็นยุทธภัณฑ์ที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ พลเอก ธวัช สุกปลั่ง และได้ใช้ในราชการสนามหลายครั้ง

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์ทหารกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา


หมวกเหล็กของร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย

                             
                              
                                                  



ประวัติความเป็นมา

    กรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ ๓๑๘๒ ฐานฯ ละมาด และกำลังพลในฐานฯ ได้ถูกกองกำลังทหารสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าโจมตีฐานฯ และระดมยิงด้วยอาวุธยิงสนับสนุน อย่างหนัก ร้อยเอก สุรพลฯ ได้ยิงโต้ตอบเพื่อยึดรักษาฐานฯ ละมาด ไว้อย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากกำลังฝ่ายตรงข้ามเข้าโจมตีอย่างหนัก และมีกำลังมากกว่าหลายเท่าจนกระทั่งสถานการณ์คับขัน เห็นว่าไม่สามารถรักษาฐานไว้ได้ด้วยความกล้าหาญ ร้อยเอก สุรพลฯ และกำลังพลฐานฯ ละมาด จึงร้องขอการยิงสนับสนุนของปืนใหญ่ โดยใช้กระสุนแตกอากาศเหนือฐานฯ เพื่อต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับความสูญเสียอย่างหนัก แม้จะรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นอันตราย ถึงชีวิตของตนเอง ก็ตามจนในที่สุด ร้อยเอก สุรพลฯ ซึ่งกำลังอำนวยการยิงอยู่ ในขณะนั้นได้ถูกสะเก็ดปืนใหญ่ที่ศีรษะเสียชีวิตในสนามรบ

ความสำคัญ

    เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของหน่วย ซึ่ง ร้อยเอก สุรพล ชำนาญจุ้ย ผู้บังคับกองร้อยทหารม้าที่ ๓๑๘๒ ฐานฯ ละมาด ได้สวมใส่ ทำการรบจนกระทั่งเสียชีวิตในกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑

สถานที่จัดเก็บ

    ห้องประวัติศาสตร์กองพันทหารม้าที่ ๑๘ กรมทหารม้าที่ ๓ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์



เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘ (F - 5)

                                                                                
                 


ประวัติความเป็นมา

    เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙ นาวาอากาศตรี พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ ได้นำ บข.๑๘ (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘) ออกโจมตีทางอากาศในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงต่อสู้ทำให้เครื่องตกบริเวณเขาปู่บริเวณพิกัด QU406402 จังหวัดเพชรบูรณ์ ในยุทธการร่วมใจ ๑๐ และได้สูญหายไป

ความสำคัญ

    นาวาอากาศตรี พงษ์ณรงค์ เกษรศุกร์ และ บข.๑๘ (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๘) เป็นบุคคล และยุทโธปกรณ์ทางประวัติศาสตร์ในการสนับสนุนการรบในสมรภูมิเขาค้อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙

สถานที่จัดเก็บ

    พิพิธภัณฑ์อาวุธและการสู้รบ (ฐานยิงสนับสนุนอิทธิ) ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์




รวบรวมโดย กองประวัติศาสตร์ ยก.ทบ.
อัพเดต  พ.ค.64

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทหารในสังคมไทยปัจจุบัน

โดย พลเอก เฉลิม คูหาวิชานันท์

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

16 เมษายน 2564

     วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั่วไปแล้วยังส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของทหารในการป้องกันประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะมีคำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบโดยเร่งด่วนใน 2 ประเด็น ได้แก่ 
    1.จะเตรียมกำลังทหารเพื่อพัฒนาให้เป็นกองทัพที่ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร 
    2. ควรจัดสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทหารกับพลเรือนอย่างไรให้เกิดดุลยภาพในการร่วมกันป้องกันประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดไป




     ปัจจุบันเรากำลังดำรงอยู่ในโลกที่ไม่หยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะอยู่รอดในสังคมอย่างมีคุณค่าสามารถใช้เวลาของชีวีตที่น้อยนัก สร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่เราจะต้องมีสติและมีปัญญาเพื่อที่จะได้รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดตามบทบาทตามหน้าที่ของตนทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ของสังคม ของประเทศ และในฐานะส่วนหนึ่งของมนุษยชาติในโลก

       การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นทุกคนต่างมีหน้าที่ คือมีกิจที่จะต้องทำ มีกิจที่ควรทำ ไม่มีผู้ใดเลยที่ไม่มีหน้าที่ ทุกคนจึงพึงรู้จักหน้าที่ของตน และทำหน้าที่ของตนให้เต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ “ความรู้สึกและความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้เป็นคุณวุฒิอันสำคัญของคนทั้งปวง ไม่ว่าผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงต่ำเพียงใด หรือว่าจะเป็นคนรับราชการฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน หรือประกอบการอย่างใด ๆ ถ้าคนทั้งหลายมีความรู้สึก และซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน ๆ แล้ว ก็อาจให้เกิดความพร้อมเพรียงเป็น กำลังช่วยกันประกอบกิจการทั้งปวงให้สำเร็จลุล่วงไป ได้ประโยชน์แก่ ตนเองและเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองของตนได้ดังประสงค์” (พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

          ทหารก็เหมือนคนอื่น ๆ ในสังคมซึ่งมีหน้าที่ต้องกระทำ ทหารถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานับตั้งแต่มี การบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ จนกลายเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ที่ได้รับความศรัทธา ความเชื่อถือและความเลื่อมใสจากคนไทยทุกยุค ทุกสมัย ในฐานะที่เป็นความหวังและเป็นที่พึ่งของพวกเขาในยามที่เกิด ศึกสงครามหรือได้รับความเดือดร้อนทั้งจากภัยพิบัติและการถูกกดขี่ ข่มเหงรังแกด้วยความอยุติธรรม ซึ่งทหารทุกคนได้รับรู้และภูมิใจที่ได้ กระทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชนตลอดมา เพราะทหารทุกคนสำนึก อยู่เสมอว่าการที่เกิดมาเป็นทหารของชาตินั้นก็เพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญ ที่สุดนั่นคือการปกป้องอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้ลูกหลานตลอดไป

         การทำหน้าที่ของทหาร นอกจากจะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งทำให้สภาพสังคมไทยได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างอย่างชัดเจนมากขึ้น จากสังคม ที่มีโครงสร้างแนวดิ่ง แบบอำนาจนิยม เริ่มปรับให้มีความแตกต่างและ เหลื่อมล้ำน้อยลง เกิดชนชั้นกลางยุคหลังสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทใน สังคมจากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท ครอบครัวที่มี วิถีชีวิตแบบเดียวกันกลายเป็นครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวมีวิถีชีวิต ที่หลากลาย แนวโน้มสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่วัยทำงานจะสนใจเรื่องการแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกน้อยลงซึ่งน่าจะส่งผล กระทบต่อประชากรไทย ในอนาคต

         คนหนุ่มสาวและเยาวชนรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น ไม่ชอบการเป็นลูกน้องใคร นิยมการทำธุรกิจส่วนตัว ชอบความเรียบง่าย ไม่ชอบพิธีรีตอง มีความกล้าได้กล้าเสีย ชอบอยู่ในโลกของตัวเอง โดย เฉพาะในโลกเสมือนจริงผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งการเกิดโลกเสมือนจริงผ่านสังคมออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่า Social Media ได้มีบทบาทสูงขึ้นในสังคม และเป็นความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องให้ความสนใจเรียนรู้ และทำาความเข้าใจถึงการดำรงอยู่ของสังคมแบบสองโลกที่มีทั้งโลกจริง และโลกเสมือนจริงมากขึ้น เพื่อนำข้อดีมาใช้ประโยชน์และป้องกันแก้ไขข้อเสียที่จะเกิดขึ้น



        นอกจากนั้น นักวิชาการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง ประชากรรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่ม “เจเนอเรชั่น ซี-อัลฟ่า” ว่าเป็นกลุ่มเด็กไทย-เยาวชนไทย รุ่นใหม่ที่เกิด ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗- ๒๕๖๖ ในอนาคตจะมีความสำคัญกับสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น ผู้บริหารประเทศจึงควรทำความรู้จักและเข้าใจถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นนี้ คนกลุ่มนี้ ถือได้ว่า เป็นคนในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เพราะเป็นคนรุ่นที่ได้เริ่มสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่และโลกออนไลน์นับตั้งแต่แรกเกิด การที่คนรุ่นนี้ถือกำเนิดขึ้นมา เผชิญและเติบโตท่ามกลางการพัฒนาก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ล่าสุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นนี้ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆและมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟนและมีกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์มากที่สุด ทั้งเพื่อการค้นหาข้อมูลความรู้และความบันเทิง จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความคุ้นกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่ารุ่นอื่นๆ ทำให้ความคิดเห็นและมุมมองในมิติการเรียนรู้และอาชีพการงานต่างจากคนรุ่นก่อน“คนในยุคดิจิทัล” มักจะใฝ่ฝันที่จะมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จากความชอบของตัวเองและที่สำคัญมักแสดงออกถึงความเป็นตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใคร
      ภายใต้บริบทโลกแบบ VUCA ที่มีความผันผวน มีความไม่แน่นอน มีความซับซ้อนและมีความคลุมเครือ ในสภาพแวดล้อมของระบบสังคมดิจิทัลหลังโควิด-19 ที่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “New Normal" เกิดขึ้นและประกอบด้วยประชากรที่เป็นคนต่างยุคต่างวัยมาอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เรียกว่า “คนในยุคดิจิทัล” ทำให้ผู้นำแบบดั้งเดิมไม่สามารถนำพาหรือจัดระบบต่างๆในสังคมได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องมีผู้นำรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ผู้นำยุคดิจิทัล” ให้มาทำงานร่วมกัน

                          

   ในบริบทด้านความมั่นคงนั้น การที่โลกเริ่มมีการจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยการท้าทายกันระหว่างมหาอำนาจมีผลให้การทำสงครามเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับทหารที่จะต้องทำความเข้าใจและหาวิธีการกำหนดนโยบายและวางแผนทางทหารเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทใหม่ด้านความมั่นคงการทำหน้าที่ของทหารในสังคมไทยปัจจุบันทำได้ยากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ทหารจำเป็นต้องปรับปรุงและประยุกต์ใช้กรอบวิธีการคิดแบบดั้งเดิมให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมภายใต้บริบทใหม่ด้านความมั่นคง และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามกรอบความคิดแบบดั้งเดิมการประเมินและวิเคราะห์ภัยคุกคามทางทหารแบบดั้งเดิมเกิดจากแนวความคิดของกลุ่มสัจนิยมที่มองว่าในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ หรือเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ของความร่วมมือหรือพื้นที่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกนั้น รัฐจะเป็นตัวแสดงหลักเพียงผู้เดียวที่จะกำหนดผลประโยชน์ของประเทศหรือรัฐของตน และรัฐโดยคณะบุคคลที่เรียกว่ารัฐบาล จะเป็นผู้ดำเนินการให้ได้มา และรักษาผลประโยชน์ที่เรียกว่าผลประโยชน์แห่งชาติของตน รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายที่จะบรรลุถึงเป้าหมาย หรือผลประโยชน์ที่ต้องการ ในรูปของนโยบายด้านกิจการต่างประเทศ นโยบายด้านกิจการภายในประเทศ และนโยบายการป้องกันประเทศ และเมื่อต้องเผชิญกับการต้านทานมีให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้รัฐนั้นจะกำหนดให้เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ และถือเป็นอุปสรรคที่จะต้องขจัดให้หมดไป ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้กำลังอำนาจทางทหารและศักยภาพทางเศรษฐกิจเข้าดำเนินการ




          ปัจจุบันการเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นการเมืองซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการเมืองแบบ ๒ กิ่งก้าน คือขณะที่รัฐยังดำรงอยู่และมีอำนาจอธิปไตยในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและป้องกันประเทศดูแลให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกรุกรานยึดครองดินแดนและประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ในเวลาเดียวกันได้เกิดตัวแสดงใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ ไม่มีอำนาจอธิปไตยเหมือนรัฐขึ้นในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในลักษณะบรรษัทข้ามชาติเหนือรัฐ ชนกลุ่มน้อยกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมข้ามชาติ พรรคการเมือง องค์กรระหว่างประเทศ และแม้แต่กลุ่มหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้รัฐ/ประเทศเอง ซึ่งไม่ได้ยึดถือกฎเกณฑ์ในลักษณะเดียวกับรัฐ แต่มีทรัพยากรและช่องทางที่เพียงพอในการริเริ่มกิจกรรมระดับโลกด้วยตัวของกลุ่มเอง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญซึ่งสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินกิจการระหว่างประเทศในโลกด้วย

       ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียุคดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐสามารถระดมทรัพยากรทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในระดับโลกได้โดยง่าย และการที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการป้องกันดินแดนและกฎเกณฑ์ที่รัฐต้องยึดถือ การจะควบคุมกลุ่มดังกล่าวให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์และระเบียบวินัยโดยรัฐไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละกลุ่มมีอิสระที่จะกระทำให้ได้ตามเป้าหมายของกลุ่มตนการจัดระเบียบโลกใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 จะทำให้การดำเนินกิจการระหว่างประเทศมิได้ยึดอยู่กับผลประโยชน์ของชาติเพียงอย่างเดียว แต่มีผลประโยชน์ของกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดเป็นภัยคุกคามทางทหารแบบดั้งเดิมต่อประเทศได้แบบฉับพลัน ทำให้การวางแผนทางทหารเพื่อเตรียมการป้องกันประเทศมีความยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น เพราะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าความท้าทายหรือภัยคุกคามใดที่ต้องใช้กำลังทหารและจะใช้ในรูปแบบใด เนื่องจากการระบุภัยคุกคามและการวางแผนทางทหารจะเป็นที่สนใจเฝ้าติดตามของกลุ่มต่าง ๆในสังคม การนิยามภารกิจทางทหารที่จะต้องปฏิบัติจะกลายเป็นประเด็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

  การทำหน้าที่ของทหารในสังคมไทยปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมีอำนาจหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนเป็นตัวแสดงหลักในการบริหารกิจการของประเทศภายใต้บริบทของสังคมแบบสองโลก ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ล้วนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ทหารจำเป็นต้องมีกรอบวิธีคิดใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ เข้ามาพิจารณาร่วมกันให้เห็นความเกี่ยวพันของเหตุและผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานทางทหารให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองโลก

   ทหารในสังคมไทยปัจจุบันจะต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และประเมินผลกระทบที่เกิดจากบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปและบริบทใหม่ด้านความมั่นคงที่มีการจัดระเบียบโลกครั้งใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการกำหนดภัยคุกคามต่อประเทศ รวมทั้งเพื่อการกำหนดสัมพันธภาพระหว่างสถาบันทหารกับพลเรือนในสังคม และที่สำคัญเพื่อจัดเตรียมกำลังทหารให้เหมาะสมที่จะใช้เพื่อปกป้องอิสรภาพของบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้ลูกหลานตลอดไป

…………………………………………………….